ข้อดีของสมาร์ทโฟนเกมมิ่ง ไม่ใช่ชิปประมวลผลที่เร็วแรงเท่านั้น แต่เป็นเหล่า ‘ฟีเจอร์’ ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการเล่นเกมต่างหาก รีวิวนี้พบกับ ASUS ROG Phone 5 สมาร์ทโฟนเกมมิ่งภาคต่อ (ไม่นับ 4) เพิ่มเติมดีไซน์และสารพัดฟีเจอร์ ที่ช่วยให้เล่นเกมได้มันส์กว่าเดิม
ขึ้นชื่อว่าสมาร์ทโฟนเกมมิ่ง (โดยเฉพาะรุ่น Hi-End) ประสิทธิภาพหรือความแรง คงไม่ใช่เรื่องเด่นอีกต่อไป เพราะยังไงก็เล่นเกมได้ลื่น ๆ อยู่แล้ว จุดที่ควรโฟกัสจริง ๆ คือส่วนที่เป็นฟีเจอร์ ซึ่งต้องเป็นมากกว่า Gimmick ต้องใช้งานได้จริง และเป็นประโยชน์จริง ๆ เท่านั้น เฉกเช่น ROG Phone 5 สมาร์ทโฟนเกมมิ่งภาคต่อจาก ASUS ที่รอบนี้ใช้ชิปประมวลผลตัว Top อย่าง Qualcomm Snapdragon 888 5G เป็นขุมพลังหลัก และยังเพียบพร้อมลูกเล่นมากมายยิ่งกว่าเก่า กับดีไซน์ที่ดุดันสมฐานะ และอย่างที่เกริ่นไป ฟีเจอร์ > ชิปประมวลผล รีวิวนี้ก็ขอเน้นที่ตัวฟีเจอร์เป็นหลัก เอาแบบเน้น ๆ เลย โดยจะใช้ประโยชน์ได้ขนาดไหน และเปลี่ยนให้เกมเมอร์ทั่วไป กลายเป็น โปรเกมเมอร์ ได้ยังไง แม้จะเป็น ROG Phone 5 ระดับเริ่มต้น มาพิสูจน์ไปพร้อมกันครับ
รายละเอียดสเปก ASUS ROG Phone 5
หน้าจอ : Samsung AMOLED ขนาด 6.78 นิ้ว ความละเอียด Full HD+ (2448 x 1080) สัดส่วน 20.4:9 อัตรา Refresh Rate 144 Hz / 1 ms รองรับ HDR10+ และมีค่า Delta-E < 1 ครอบทับด้วยกระจก Corning Gorilla Glass Victus
หน่วยประมวลผล : Qualcomm Snapdragon 888 5G
ชิปกราฟฟิก : Qualcomm Adreno 660
แรม : 8/12/16GB LPDDR5
รอม : 128/256GB แบบ UFS 3.1
กล้องหลัง : [64 MP + 13 MP + 5MP] แบ่งเป็นเลนส์หลัก 64 ล้านพิกเซล ใช้เซ็นเซอร์ IMX686 จาก Sony เลนส์ Ultrawide 13 ล้านพิกเซล และเลนส์ Macro 5 ล้านพิกเซล
กล้องหน้า : 24 ล้านพิกเซล
การเชื่อมต่อ : USB-C และช่องเสียบหูฟัง 3.5 !!!
เน็ตเวิร์ค : WiFi 6 + Bluetooth 5.2 รองรับ aptX Adaptive
แบตฯ : Li-Ion 6,000 mAh รองรับ Quick Charge 5 และ PD Charging 3.0 (Fast charging 65W ชาร์จเต็มภายใน 52 นาที)
ระบบเสียง : DTS:X stereo speakers
ขนาดตัวเครื่อง : 173.00 x 77.00 x 9.90 mm
น้ำหนัก : 239g
ระบบปฏิบัติการ : Android 11 ครอบทับด้วย ROG UI
แกะกล่อง
เนื่องด้วย ROG Phone 5 เปิดตัวด้วยกัน 3 รุ่น อาทิ ROG Phone 5 กับ ROG Phone 5 Pro และ ROG Phone 5 Ultimate ตัวที่รีวิวนี้คือ ROG Phone 5 ตัวเริ่มต้น ดังนั้นกล่องจึงลดความอลังการลง หากแต่ยังแฝงความไม่ธรรมดาเอาไว้ ก่อนอื่นมาดูอุปกรณ์ภายในกล่องกันก่อน ซึ่งก็ประกอบไปด้วย ตัวเครื่อง ROG Phone 5 , เคส Aero , สาย USB-C to USB-C หัวชาร์จ 65W , Ejector pin , สติ๊กเกอร์ ROG และชุดคู่มือ
หน้าตาหัวชาร์จหรือชาร์จไวระดับ 65W ที่เคลมว่าชาร์จเครื่องจนเต็มได้ภายใน 52 นาทีเท่านั้น
ความไม่ธรรมดาของตัวกล่อง ก็คือการแฝงลูกเล่น AR เอาไว้นี้เอง โดยดูได้ผ่านแอปฯ Armoury Crate ในตัวเครื่องเท่านั้น และเมื่อลองแสกนก็จะปรากฏเป็นภาพสีเคลื่อนไหวตามภาพเลย
ส่วนตัวพัดลม AeroActive Cooler ที่ปกติจะแถมในกล่อง รอบนี้มาเป็นกล่องแยกแทน (แต่ยังแถมอยู่นะ) โดยตัวพัดลมก็มีการเปลี่ยนดีไซน์ใหม่ด้วย
เกมมิ่งดีไซน์
ใด ๆ ก็ตาม หากมีโลโก้ ROG ประทับบนอุปกรณ์ใด อุปกรณ์นั้นจะมีความสวยงามเป็นพิเศษอย่างแน่นอน ROG Phone 5 ก็เช่นกัน แค่รุ่นเริ่มต้นก็สวยแล้ว ถือว่าเป็นสมาร์ทโฟนเกมมิ่งที่มีดีไซน์โดดเด่นเอาเรื่อง ชวนให้หันมองสุด ๆ แม้ตัวเครื่องจะยังใช้ทรงเดิมแบบที่ ROG Phone เป็นมา แต่ด้านหลังก็มีการพัฒนาลวดลายอยู่เรื่อย ๆ และรอบนี้ก็เป็น
ROG Logo หรือไฟสถานะแบบดอทแมททริกซ์ จากปกติจะเป็น LED แต่ยังคงเปลี่ยนสีได้ (หากเป็นรุ่น Pro หรือ Ultimate จะเป็น ROG Vision เป็นหน้าจอแสดงผลเลย)
ช่องใส SIM ก็ยังไม่ธรรมดา
หากจับใส่เคส Aero ก็จะเพิ่มความเท่ได้อีก 2 เท่า
ประกอบร่าง !! (AeroActive Cooler 5)
หน้าจอ 6.78 นิ้ว ความละเอียด Full HD+ (2448 x 1080) รองรับ Refresh Rate 144 Hz เช่นเคย และยังคงมีสีสันที่จัดจ้านเป็นพิเศษ การันตีความเที่ยงตรงของสีด้วย Delta-E < 1 และรอบนี้ครอบทับด้วยกระจก Corning Gorilla Glass Victus ทำให้มึความแข็งแรงและกันรอยขีดข่วนได้ดีขึ้น
เกมมิ่งฟีเจอร์
มาถึงส่วนรีวิวหลักกันแล้ว ครั้งนี้ต้องบอกเลยว่า อาจไม่เน้นเรื่องกล้อง UI และประสิทธิภาพตัวชิป Snapdragon 888 แต่จะมาหนักที่ฟีเจอร์แทน ซึ่งจากที่ลองใช้งานมา ก็พบว่ามีฟีเจอร์เด่นที่น่าสนใจอยู่ด้วยกัน 5 อย่างคือ
X Mode
ฟีเจอร์หากินของ ROG Phone นับตั้งแต่รุ่นแรก ใน ROG Phone 5 ก็ยังคงมีวิธีเรียกใช้และให้ผลลัพธ์ที่เหมือนเคย เรียกง่าย ๆ ว่าเป็นปุ่ม Overclock หรือ OC ตัวซีพียู Qualcomm Snapdragon 888 5G ให้แรงกว่าเดิม และยังช่วยปรับแต่งแสงสีของตัวเครื่องให้ดูดุดันขึ้นด้วย โหมดนี้จะช่วยให้สามารถเล่นเกมได้ลื่นไหลขึ้น และ เสถียรขึ้น เพราะจะช่วยเร่งประสิทธิภาพการเชื่อมต่อ WI-Fi หรือ 4G/5G ด้วย แต่ก็แลกมากับความร้อน และการใช้พลังงานที่มากขึ้นตาม เอาไว้กดเฉพาะตอนลง Rank ลงดัน สู้ Boss น่าจะเหมาะกว่า
เอฟเฟคหน้าจอก่อนกดและหลังกดเปิด X-Mode
ทั้งนี้ในตัว X-Mode เรายังสามารถปรับแต่งการทำงานอื่น ๆ ได้ด้วย จากปกติมันจะ Boost ภาพรวมของตัวเครื่อง เราสามารถตั้งค่าการเปิดใช้งานในส่วนอื่น ๆ ก็ได้เช่นกัน
AeroActive Cooler 5
พัดลมที่เป็นมากกว่าพัดลม AeroActive Cooler 5 เป็นอุปกรณ์เสริมที่แถมมากับตัว ROG Phone 5 ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการระบายความร้อนให้มากขึ้น ต้องบอกก่อนว่าปกติตัว ROG Phone 5 ก็มีระบบการระบายความร้อนที่ดีอยู่แล้ว โดยภายในก็มี 3D Vapor chamber ส่วนทองแดงช่วยนำความร้อน และแผง Graphite Sheet ประกบคู่ ก็ช่วยให้เครื่องไม่ร้อนง่าย ๆ อยู่แล้ว แต่หลังประกบตัว AeroActive Cooler 5 เข้าไป ก็จะช่วยลดอุณหภูมิตัวเครื่องลงได้อีก 10 องศากันเลย
อุณหภูมิเฉลี่ยหลังใส่ AeroActive Cooler 5 ตอนเล่นเกม อยู่ที่ประมาณ 40 องศา
ยังมีอีก ที่บอกว่าเป็นมากกว่าพัดลมนั้น ก็เพราะมันมีปุ่ม Macro เพิ่มมาอีก 2 ปุ่ม สามารถกดได้จากด้านหลัง ช่วยเพิ่มความสะดวกในการเล่นเกมได้ยิ่งขึ้น จึงถือว่าเป็นฟีเจอร์เด่นในที่นี้เอง
AirTrigger
ปุ่มมาโครสุดโกง ที่เปรียบได้กับปุ่ม R1 – L1 (รวมกับตัว AeroActive Cooler 5 ก็มี R2 – L2 เรียบร้อย) ยังคงเป็นปุ่มที่เปลี่ยนให้เรากลายเป็นผู้เล่นเกม FPS ระดับโปรได้ทันที รอบนี้ก็เพิ่มความไวต่อการสัมผัสยิ่งขึ้นด้วย Ultrasonic Sensors การตั้งค่าใช้งานก็ไม่ยาก สามารถปรับเปลี่ยนระหว่างเล่นเกมได้เลย
การตั้งค่า AirTrigger
ROG Logo
อาจดูเป็นฟีเจอร์ที่ไม่ส่งผลต่อการเล่นเกมซักเท่าไร หากแต่ในแง่ความรู้สึก มันคือความ ‘ภูมิใจ’ อยากอวดให้โลกรู้ว่า เราคือ ‘เกมเมอร์’ นั้นเองครับ (จะได้กำลังใจในการเล่นว่าซั่น) ROG Logo ไฟสถานะแบบดอทแมททริกซ์ด้านหลังเครื่อง ที่สามารถปรับเปลี่ยนด้วยตัวเอง หรือปล่อยให้มันเป็นสัญญาณแจ้งเตือนสภานะของตัวเครื่องก็ได้
หน้าตั้งค่าตัว ROG Logo (มีผลตอนใส่ AeroActive Cooler 5 ด้วยนะ)
Motion Control
ปิดท้ายด้วยฟีเจอร์ Motion Control เซ็นเซอร์ตรวจจับทิศทางของสมาร์ทโฟน เพิ่มการควบคุมการเล่นเกม ง่าย ๆ คือ หากเราเขย่าเครื่อง หมุนเครื่อง หรือโยกเครื่อง เราสามารถทำให้การเคลื่อนไหวเหล่านี้ เป็นปุ่มหรือคำสั่งพิเศษตอนเล่นเกมได้นั้นเอง เช่น เกมแข่งรถ หากตั้งค่าให้หมุนเครื่องไปด้านหน้า ก็จะเป็นการเรียกใช้ไนตรัสได้นั้นเอง
การตั้งค่าก็มีให้เลือกหลากหลายมาก และหากไม่เข้าใจว่าเป็นท่าทางยังไง ในแต่ละตัวเลือกก็จะมีภาพเคลื่อนไหวอธิบายให้เห็นอย่างง่าย ๆ ด้วย
เกมมิ่งเทส
ดูกันไปยาว ๆ 3 เกม อาทิ Call of Duty: Mobile , Honkai Impact 3rd และ Genshin Impact ปรับสุดทุกเกม ลื่นไม่ลื่นลองดูเลย
Call of Duty: Mobile
Honkai Impact 3rd
Genshin Impact
กล้องหลัง
สำหรับกล้องรอบนี้ สารภาพตามตรงว่าแทบไม่ได้ยุ่งเลย คือแต่ไหนแต่ไร สมาร์ทโฟนเกมมิ่งหลาย ๆ รุ่น จะไม่ค่อยเน้นเรื่องกล้องมากนัก ROG Phone 5 ก็เช่นกัน สเปกกล้องหลังของ ROG Phone 5 รอบนี้ก็ยังมี 3 กล้องเหมือนก่อน แต่มีการเพิ่มความละเอียดกล้องหลัก จากเดิม 48 ล้านพิกเซล เป็น 64 ล้านพิกเซลแล้ว พร้อมเซ็นเซอร์ IMX686 จาก Sony ส่วนอีก 2 กล้องก็ยังคงเดิม อาทิ เลนส์ Ultrawide 13 ล้านพิกเซล และเลนส์ Macro 5 ล้านพิกเซล
หน้าตา UI ควบคุมกล้อง (โหมดโปร)
ตัวอย่างภาพถ่าย
เทียบเลนส์ Wide (64MP) และ Ultrawide (13 MP)
สรุป
จาก 5 ฟีเจอร์เกมมิ่งทั้งหมดของ ROG Phone 5 มีอยู่ 3 ฟีเจอร์ที่ใช้ประโยชน์ได้จริง อาทิ AirTrigger , X Mode และ AeroActive Cooler 5 ที่เป็นอุปกรณ์เสริม เหล่านี้คือส่วนที่ทำให้เราเทิร์นโปรได้ง่าย ๆ เลย โดยเฉพาะ AirTrigger ที่ช่วยได้มาก ๆ ทำให้เล่นเกมแนว FPS ในสมาร์ทโฟนได้สะดวกและมันส์กว่าเดิม ตัว X Mode ก็ช่วยให้เล่นเกมได้ลื่นไหลและเสถียร (ช่วยเรื่องเน็ต) สุดท้าย AeroActive Cooler 5 จากเดิมที่มีเฉพาะพัดลม รอบนี้มาพร้อมปุ่ม Macro มาให้อีก 2 ปุ่มด้วย เปลี่ยนให้ตัวเครื่องกลายเป็นจอยเกมคอลโซล หรือมีปุ่มครบแบบจอย XBox หรือ PS ไปเลย นี่ยังไม่รวมอุปกรณ์เสริมอื่น ๆ ที่จะช่วยให้เล่นเกมได้สนุกกว่านี้อีก
สรุป ROG Phone 5 คือสมาร์ทโฟนที่เกิดมาเพื่อเล่นเกมจริง ๆ นอกจากฟีเจอร์ดังกล่าวแล้ว ก็ยังมีทั้งหน้าจอ ที่แสดงผลได้สวยงามและให้สีสันได้จัดจ้านมาก ๆ ภาพในเกมสวยขึ้นอย่างรู้สึกได้เลย เมื่อเทียบกับสมาร์ทโฟนรุ่นอื่น ๆ ส่วน Qualcomm Snapdragon 888 5G ก็แรงสมกับที่เป็นชิประดับ Top สุดของฝั่ง Android แรงจริง ลื่นจริง ปรับสุดก็ไม่สะเทือน หากแต่ยังมีปัญหาเรื่องความร้อนอยู่นิด ๆ ถ้าไม่ได้ตัวระบบระบายความร้อยเฉพาะตัวของ ROG Phone 5 หรือ AeroActive Cooler 5 เกรงว่าคงเล่นเกมได้ไม่นานแน่