ปกติโน้ตบุ๊กบางเบาหลาย ๆ รุ่นนั้น ก็มีความสวยงามในตัวอยู่แล้ว แต่ครั้งนี้เราจะได้พบกับโน้ตบุ๊กบางเบารุ่นพิเศษ ที่มีหน้าตาล้ำไปอีกขั้น พบกับ ASUS Zenbook 14X OLED Space Edition โน้ตบุ๊กที่ทาง ASUS ส่งมาฉลองครบรอบ 25 ปี ที่ครั้งหนึ่งเคยได้ส่งโน้ตบุ๊กตัวแรกอย่าง P6300 ขึ้นอวกาศสำหรับภารกิจที่สถานีอวกาศเมียร์ MIR จึงเป็นที่มาของงานออกแบบสไตล์ Space Edition สมชื่อ ให้เสน่ห์อวกาศปี 90s ได้เป็นอย่างดี ซึ่งทาง ASUS ได้รับแรงบันดาลใจจากสถานีอวกาศและรหัสมอร์สมานี้เอง อีกทั้งยังมีสเปกระดับ Intel Core i9-12900H พร้อมแรม 32GB LPDDR 5 กับ SSD 1TB Gen 4 แรงเกินความบางกันพอควร ซึ่งจะใช้งานได้ดีขนาดไหน และสวยงามจับใจแค่ไหน ลองมาดูรีวิวนี้กันครับ
รายละเอียดสเปก ASUS Zenbook 14X OLED Space Edition
Processor : Intel Core i9-12900H Processor 2.5 GHz (24M Cache, up to 5.0 GHz, 6P+8E cores)
GPU : Intel Iris Xe Graphics
Memory : 32GB LPDDR5
Display : จอ OLED ขนาด 14″ นิ้ว ความละเอียด 4K (3840 x 2400) สัดส่วน 16:10 , DCI-P3 100% color gamut ,
Storage : 1TB M.2 NVMe PCIe® 4.0
Wi-Fi : Wi-Fi 6E (802.11ax)
Bluetooth : 5.0
Battery : 63WHrs, 3S1P, 3-cell Li-ion
Webcam : 720p HD (มีรุ่น 1080p ให้เลือก)
Port : USB 3.2 Gen 2 Type-A x 1 , Thunderbolt 4 x 2 (รองรับการแสดงผล/การป้อนไฟ) , HDMI 2.0b x 1 , 3.5mm Combo Audio Jack x 1 และ Micro SD card reader
Dimension : 31.12 x 22.11 x 1.59 มม. (หนัก 1.40 กก.)
OS : Windows 11 Home
Color : Zero-G Titanium
แกะกล่อง
ตัวเครื่องว่าอลังการแล้ว ตัวกล่องก็อลังการไม่แพ้กันเลย กลิ่นอายความเป็นอวกาศคือจัดเต็มมาก ๆ สวยจนอยากพกไปใช้พร้อมตัวเครื่องข้างนอกกันเลย
งานดีไซน์จากอวกาศ
ก่อนจะเล่าที่มาที่ไปของตัว ASUS Zenbook 14X OLED “Space Edition” ขอถามทุกคนก่อนเลยว่า เห็นตัวเครื่องครั้งแรกแล้วรู้สึกอย่างไรบ้างครับ เชื่อว่าคงรู้สึกเหมือน ๆ กันคือ “สวย” เอาไปใช้ที่ไหน ต้องมีทักกันบ้างแน่ ๆ ส่วนตัวผมผู้รีวิวก็คิดเช่นกัน ปกติโน้ตบุ๊กตระกูล Zenbook ของ ASUS ถือได้ว่าเป็น Ultrabook ระดับพรีเมี่ยมรุ่นหนึ่ง พอมาเป็น “Space Edition” ก็ยิ่งเพิ่มความพรีเมี่ยมขึ้นไปอีก ทั้งการใช้สีตัวเครื่องพิเศษอย่าง Zero-G Titanium แบบเดียวกับสีที่ใช้ในยานอวกาศ และมีการใส่ฟีเจอร์เฉพาะอย่าง “ZenVision” ซึ่งเดี๋ยวจะมาว่ากันอีก
สำหรับที่มาที่ไปของ “Space Edition” ครั้งนี้ ก็ต้องย้อนกลับไป 25 ปีก่อน ทาง ASUS เคยส่งโน้ตบุ๊กรุ่น ASUS P6300 ไปยังสถานีอวกาศ MIR อีกทั้งยังเป็นโน้ตบุ๊กตัวแรกของทาง ASUS ที่เปิดตัวในปี 1997 ด้วย และเพื่อเป็นการฉลองครบรอบ 25 ปี ASUS Zenbook 14X OLED “Space Edition” จึงได้ถือกำเนิดขึ้น พร้อมกับดีไซน์ที่ใส่รายละเอียดเกี่ยวกับความสำเร็จในครั้งนั้นอย่างเต็มที่ โดยมีทั้งรหัสมอร์สบริเวณฝาเครื่อง ซึ่งเป็นภาษาละตินคำว่า ‘Per aspera ad astra’ ความหมายคือ ‘ผ่านความยากลำบากสู่ดวงดาว’ ซึ่งดีไซน์โดยรวม ก็ให้กลิ่นอายของยานอวกาศในปี 90s อยู่เหมือนกัน
รหัสมอร์สดังกล่าว
อีกจุดสังเกต แต่แอบเสียดายนิด ๆ ที่โดนโลโก้หรือสติกเกอร์บังไปบางส่วน
ตัวเครื่องบางเพียง 15.9 มม. และหนัก 1.40 กก. เท่านั้น ไม่เสียชื่อ Zenbook อีกทั้งยังผ่านทดสอบ MIL-STD 810H การันตีความแข็งแรงทนทานด้วย
และความพิเศษสำหรับรุ่น Space Edition คือ มีการออกแบบให้มีความทนทานระดับเดียวกับอุปกรณ์ที่ต้องใช้งานในอวกาศด้วย เหมือนกับตอนที่ส่งตัว ASUS P6300 ขึ้นไปยังสถานีอวกาศ MIR นั้นเอง ซึ่งมีการทดสอบด้วยมาตรฐาน SMC-S-016A ของ US Space Systems Command Standard ที่ทนทานเป็นพิเศษ ปกป้องการกระเทือนตั้งแต่ระดับ 20 ถึง 2,000 Hz และอุณหภูมิตั้งแต่ –24 ถึง 61 เซลเซียส มั่นใจทุกการใช้งาน ตามที่อธิบายในหน้าฟีเจอร์ของตัวเครื่อง
ZenVision บอกสถานะทันใจ
จอแสดงผลขาวดำ OLED ขนาด 3.5 นิ้ว ฟีเจอร์พิเศษที่มาพร้อมกับตัว ASUS Zenbook 14X OLED “Space Edition” ช่วยแสดงหน้าโลโก้สวย ๆ หรือเป็น Smart Notifications แสดงเวลา วันที่ หรือสถานะแบตเตอรี่ได้ ตามที่เรากำหนด พอมาเห็นของจริง ก็ต้องยอมรับว่าช่วยทำให้ตัวเครื่องเด่นขึ้นเยอะ เอาไปวางโชว์ตามร้านกาแฟหรือที่สาธาณะ ให้คนเค้ามองกันเล่น ๆ ..แต่ยกเว้นเรา
หน้าแสดงผลของจอ ZenVision ในรูปแบบต่าง ๆ
การใช้งาน
แม้จะเป็นรุ่นพิเศษอย่าง Space Edition แต่ใส้ในก็คือ Zenbook 14X OLED ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโน้ตบุ๊กบางเบาระดับ Hi-End ของ ASUS ที่มีจุดเด่นทั้งความบางเบา ประสิทธิภาพ และจอ OLED
ตามสไตล์ Zenbook ซีรีส์ ตัวเครื่องยังคงมาพร้อม ErgoLift บานพับ 180 องศา ที่ช่วยดันตัวเครื่องให้สูงขึ้นในระดับหนึ่ง ช่วยให้กดแป้นพิมพ์ได้สะดวกขึ้น และระบายความร้อนได้ดีขึ้นด้วย
ส่วนไฮไลท์เด็ดของตัวเครื่อง นอกจากดีไซน์แล้วก็มีส่วนหน้าจอขนาด 14 นิ้ว ที่ใช้พาแนลแบบ OLED ระดับ 4K ให้ภาพสวยคมเป็นพิเศษ และยังมาพร้อมขอบเขตสี DCI-P3 100% ช่วยให้แสดงผลสีสันได้ตรงและแม่นยำเป็นพิเศษอีกด้วย ถูกใจสาย Creator แน่นอน
รายละเอียดสเปกหน้าจอเพิ่มเติม
แม้จะเป็นโน้ตบุ๊กบางเบา แต่พอร์ตเชื่อมต่อก็ครบครันใช่เล่น โดยมาพร้อมทั้งพอร์ต USB 3.2 Gen 2 Type-A x 1 , Thunderbolt 4 x 2 (รองรับการแสดงผล/การป้อนไฟ) , HDMI 2.0b x 1 , 3.5mm Combo Audio Jack x 1 และ Micro SD card reader
และสำหรับส่วนระบายความร้อน ส่วนนี้มีการใช้พัดลม 87 ใบพัดแบบคู่ ที่ทำจากพอลิเมอร์คริสตัลเหลวที่ช่วยให้มีน้ำหนักเบาและบางกว่าพัดลมทั่วไป อีกทั้งมีการดูดลมเข้าทางบานพับด้านหลังเครื่องกับใต้ตัวเครื่อง และเปาออกด้านข้างทั้งฝั่ง ดูได้จากช่องระบายความร้อนของตัวเครื่องเลย ซึ่งเมื่อพลิกดูใต้เครื่อง ก็จะเห็นช่องระบายความร้อนหรือเปาลมร้อนออกชัดเจน ส่วนจะระบายความร้อนได้ขนาดไหน เดี๋ยวลองดูในส่วนหัวข้อถัดไปนี้เลย
ประสิทธิภาพ
เครื่องมาพร้อมซีพียูระดับ Intel Core i9-12900H ซึ่งปกติจะมีเฉพาะในโน้ตบุ๊กเกมมิ่งตัว Top เท่านั้น แต่เดี๋ยวนี้กลับสามารถยัดในโน้ตบุ๊กบางเบาอย่าง Zenbook ซีรีส์ได้แล้ว นอกจากตัวซีพียู ก็มีแรมขนาด 32GB แบบ LPDDR5 กับ SSD ขนาด 1TB M.2 แบบ NVMe PCIe 4.0 ส่วนการ์ดจอเป็นแบบออนบอร์ดอย่าง Intel Iris Xe Graphics ซึ่งทั้งหมดจะให้ประสิทธิภาพขนาดไหน ลองมาดูกัน
รายละเอียดซีพียู Intel Core i9-12900H และตัวการ์ดจอออนบอร์ดอย่าง Intel Iris Xe Graphics จุดสังเกตคือตัวซีพียูที่ค่า TDP อยู่ที่ 45W น้อยกว่าตัว i9-12900 ที่ใช้ใน Desktop PC ซึ่งอยู่ที่ 65W ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจ เพราะเป็นซีพียูระดับที่ใช้ในโน้ตบุ๊ก ก็ต้องลดประสิทธิภาพลงไปนิดหน่อย (ไม่งั้นเดี๋ยวร้อนเกิน) แต่กระนั้นก็ได้ค่าประสิทธิภาพต่อ Core (Single Core) และหลาย Core (Multi Core) สูงอยู่เหมือนกัน
รายละเอียดแรม 32GB LPDDR5
ทดสอบด้วย Cinebench ทั้งรุ่น R23 , R20 และ R15 ผลคือมีคะแนนสูงสมกับที่ใช้ i9-12900H
ด้าน PC Mark 10 วัดการใช้งาน PC โดยรวม ก็ยังได้ถึง 5993 คะแนน ใช้งานด้าน Workstation ได้เลย
ผลความเร็วอ่านเขียน SSD ขนาด 1TB แบบ PCIe Gen 4 ก็ออกมาสูงมาก โดยมีความเร็วอ่านอยู่ที่ 7084 MB/s ส่วนความเร็วเขียนได้ 5234 MB/s เปิดเครื่อง เปิดไฟล์ และเข้าถึงโปรแกรมต่าง ๆ ได้ไวทันใจแน่นอน
แม้จะใช้ซีพียูระดับ Intel Core i9-12900H แต่แบตฯ ก็สามารถใช้งานได้เกือบ 8 ชั่วโมง ถือว่าอยู่ได้นานเกินคาด หากเป็นโน้ตบุ๊กเกมมิ่งที่ใช้ซีพียูตัวเดียวกัน คงหมดตั้งแต่ 3 – 5 ชั่วโมงไปแล้ว
สุดท้ายลองดูประสิทธิภาพการระบายความร้อน ผลการเทสก็พบว่าตัวเครื่องสามารถระบายความร้อนได้แบบเฉียดฉิว คือว่ากันตามตรงเลย “ร้อนครับ” ความร้อนเฉลี่ยอยู่ที่ 95 องศา หากใช้งานแบบเต็มประสิทธิภาพ ฉะนั้นหากจะใช้งานระดับนี้ ควรหาโต็ะวางดี ๆ ไและห้องแอร์ไว้เลย ส่วนหากพอไปใช้งานนอกสถานที่ ถ้าไม่ได้เสียบสายชาร์จ ก็ใช้งานในโหมด ‘ประหยัดพลังงาน’ ได้อยู่