รีวิว : Intel Core i9-14900K เจน 14 ตัว Top มี AI ช่วยดันความแรง

[Review] เปิดตัวและวางจำหน่ายมาได้พักใหญ่แล้วกับ Intel 14th Gen สำหรับฝั่ง Desktop PC ครั้งนี้เราได้ตัว Top รุ่นล่าสุดอย่าง Intel Core i9-14900K มารีวิว ซึ่งมาพร้อม 24 cores / 32 threads และความเร็วสูงสุดถึง 6 GHz แรงตั้งแต่ในกล่องกันเลย ทั้งมาพร้อมฟีเจอร์ AI ช่วยอำนวยความสะดวกการ Overclock โดยเฉพาะด้วย

เชื่อว่าหลายคนคงได้เห็นความแรงของ Intel Core i9-14900K จากสำนักรีวิวหลายที่แล้ว ฉะนั้นในรีวิวนี้ก็ขอเน้นที่การใช้ AI มาช่วย Overclock ซึ่งนับเป็นฟีเจอร์อย่างแท้จริงของ Intel 14th Gen ครั้งนี้เลย ใครอยากรู้ว่ามันง่ายแค่ไหน และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพได้ขนาดไหน รีวิวนี้ลองมาดูกันครับ

แกะกล่อง Intel 14th Gen

รีวิวนี้ทาง Intel Thailand ได้ส่งทั้งตัว i9-14900K และ i5-14600K มาให้รีวิวพร้อม ๆ กันเลย โดยมาเป็นกล่องแบบ Special สุดงาม ทว่ารุ่นวางขายจริงจะยังเป็นกล่องสีเหลี่ยมขนาดย่อมเช่นเคย สำหรับตัว i5-14600K ขอเก็บไว้ก่อน ครั้งนี้ขอลองตัว Top อย่าง i9-14900K ลองมาดูประสิทธิภาพแบบเน้น ๆ รวมไปถึง AI ในตัวด้วยว่า ดียังไง และส่งผลยังไงบ้าง

รู้จักกับ Intel 14th Gen

มารู้จักกับ Intel 14th Gen ก่อนอีกซักครั้ง ตัวซีพียูจะยังคงใช้ซ็อกเก็ต LGA 1700 เหมือนเจนก่อน สามารถใช้นำมาใช้ร่วมกับเมนบอร์ด Intel 600 ซีรีย์ตัวก่อนได้ เช่น Z690 , H670 , B660 และ H610 รวมถึงแรม DDR4 ก็ยังคงรองรับด้วย ส่วนเมนบอร์ด Intel 700 ซึ่งเป็นเจนใหม่ล่าสุด ก็จะเป็น Z790 , H770 และ B760  ที่จะช่วยขับประสิทธิภาพของ Intel 14th Gen ได้มากขึ้น ในด้านการเชื่อมต่อก็รองรับ Wi-Fi 7 ซึ่งจะมาเป็นการเชื่อมต่อไร้สายที่เร็วแรงยิ่งกว่าเก่า (Wi-Fi 6) ในปีหน้านี้

จากสเปกโดยรวม เชื่อหลายคนคงมองว่าไม่ต่างจากเจนก่อนมากนัก แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีอะไรใหม่เลย ซึ่งส่วนที่ใหม่จริง ๆ ก็มีตัว Intel XTU with AI Assist และ Intel Application Optimization สองฟีเจอร์ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับตัวซีพียู หรือการ Overclock หรือ OC ผ่านโปรแกรม ซึ่งสามารถทำได้ง่าย ๆ ในคลิกเดียว และยังมี AI ช่วยวิเคราะห์ให้ด้วยว่า เครื่อง PC ที่เราใช้ สามารถ OC ได้ขนาดไหน และเหมาะสม

สเปกเด่น Intel Core i9-14900K

สำหรับสเปกของ Intel Core i9-14900K ก็มาพร้อมความจำนวนคอร์มากถึง 24 Core แบ่งเป็น P-Core 8 ตัว (Performance Core) กับ E-Core 16 ตัว (Efficiency Core) และ 32 Thread มาพร้อม Intel Thermal Velocity Boost Frequency หรือความเร็วสูงสุดถึง 6 GHz กับมีแคช 36 MB Intel® Smart Cache โดยรวมก็สมกับเป็นซีพียูตัว Top ที่ชูเรื่องจำนวน Core กับ Thread มากที่สุด และความเร็วระดับ 6 GHz ซึ่งมากกว่าเจนก่อนอย่าง i9-13900K ที่มีความเร็ว 5.80 GHz ส่วนจำนวนคอร์เท่ากัน และใช้การ์ดจอออนบอร์ดอย่าง Intel UHD Graphics 770 เช่นเคย

Test Setting

CPU : Intel Core i9-14900K
M/B : ASUS ROG STRIX Z790-H Gaming Wi-Fi
RAM : Kingston FURY Renegade RGB DDR5-8000 32GB (16GBx2)
GPU : MSI VENTUS GP GeForce RTX 2060 6G OC
SSD : WD Black SN770 1TB
PSU : Silverstone DA850 850W (80 Plus Gold)
Cooling : Antec Vortex 360 ARGB
CASE : NZXT H6 Flow

สำหรับสเปกที่ใช้ทดสอบครั้งนี้ ขอเน้นที่เมนบอร์ด (M/B) กับแรมเป็นพิเศษ เพื่อการ Overclock ด้วย AI โดยเฉพาะ ซึ่งต้องบอกก่อนว่ารีวิวนี้จะเน้นที่ซีพียูเป็นหลัก และเชื่อว่าหลายคนคงเห็นรีวิว i9-14900K จับคู่กับ RTX 4090 มาเยอะแล้ว ในที่นี้ก็ขอแหวกด้วยการใช้ RTX 2060 การ์ดจอระดับกลาง-ล่างแทน ที่ปัจจุบันตกรุ่นถึง 2 เจน แต่หากใช้ร่วมกับ i9-14900K นี้ จะช่วยขับประสิทธิภาพได้ขนาดไหน (และขวดไหม ?) เดี๋ยวลองมาดูกัน

ประสิทธิภาพ

สำหรับความเร็วซีพียู Intel Core i9-14900K ที่จะได้มาก่อนคือ 5.7 GHz เป็นพื้นฐาน ซึ่งหากถึงเวลาเดี๋ยวมันจะขึ้นไป 6 GHz ให้เองหรือหลัง Overclock โดยทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับเมนบอร์ดและชุดระบายความร้อนเป็นหลัก ลองทดสอบครั้งแรงผ่าน CPU-Z เทียบกับเจนก่อนอย่าง Intel Core i9-13900K ก็พบว่ามีความเร็วทั้ง Single และ Muti มากกว่าระดับหนึ่ง

ลองเทส PC Mark 10 ก็ได้ถึง 8908 คะแนน

เทส Cinebench R23 ก็ได้คะแนน Single-Core ที่ 2267 pts และ Multi-Core 39045 pts ส่วนนี้หากใช้ชุดน้ำที่โหดกว่านี้ (ตัว Antec Vortex 360 ที่ใช้ยังถือว่ากลาง ๆ) อาจเห็นคะแนน Multi-Core ทะลุ 4 หมื่นไปแล้ว

เทส Cinebench 2024 ก็ได้ Multi-Core ที่ 1820 pts และ Single-Core ที่ 125 pts

เทส Geekbench 6 ก็ได้ Single-Core ที่ 3055 คะแนน กับ Multi-Core ที่ 21721 คะแนน จากที่สังเกตมา จะเห็นเลยว่าคะแนน Single-Core สูงเอาเรื่อง นับเป็นซีพียูตัว Top อย่างแท้จริง

ปิดท้ายด้วย BenchMate (7-Zip) ก็ได้ไป 194033 MIPS

Intel XTU with AI Assist 

มาถึงส่วนสำคัญของรีวิวครั้งนี้กันแล้วอย่าง Intel XTU with AI Assist หรือ AI ช่วย Overclock ซึ่งสามารถใช้งานได้ผ่านโปรแกรม Intel Extreme Tuning Utility (Intel XTU) ตามนี้

สำหรับตัวโปรแกรม Intel XTU หากใช้ซีพียู Intel 14th Gen ก็จะมีหน้า AI ช่วย Overclock ให้ตามภาพ ซึ่งทันทีที่กดปุ่ม “Characterize” ตัว AI มันจะทำการวิเคราะห์ประมวลผลเครื่อง Desktop PC ที่ใช้อยู่ โดยดูหมดเลยว่า เมนบอร์ดที่ใช้ ชุดระบายความร้อนที่ใช้ และอื่น ๆ มันสามารถ Overclock ได้ถึงไหน อย่างเหมาะสม

รอ AI ประมวลผลประมาณ 30 วินาที

หลังเสร็จสิ้น ก็จะได้หน้าสรุปผลการ Overclock ที่สามารถทำได้ ซึ่งในที่นี้เองก็สามารถดันความเร็วได้ถึง 6.1 GHz แบบปลอดภัย ซึ่งหากเกิดความร้อน ตัวซีพียูจะทำการลดความเร็วลงมาเอง แต่แลกกับการกินไฟถึง 450W หากรับได้ ก็กด “Apply” เป็นอันเสร็จ

เพียงเท่านี้ ก็ได้ความเร็วเพิ่มขึ้นระหว่าง 5.8 GHz – 6.1 GHz แบบทันทีทันใด จากเดิม 5.7 GHz 

เมื่อความเร็วเพิ่มขึ้น ประสิทธิภาพก็ขึ้นตาม ดูได้จาก Cinebench R23 จากเดิม 39099 pts ก็พุ่งเป็น 39752 pts เห็นผลชัดเจน

Gaming Test

Intel Core i9-14900K จับคู่กับ RTX 2060 แล้วเป็นอย่างไรบ้าง ลองเทสกับเกม Cyberpunk 2077 ปรับภาพ 1080p กับภาพสูงสุด แต่ปรับ Ray Tracing แบบ Low ก่อน ผลคือได้เฟรมเรตเฉลี่ย 70 fps ยังเล่นได้ลื่น ๆ โดยการ์ดจอก็ทำงาน 99% เต็มสูบ ส่วนซีพียูก็อยู่ที่ 20%

ต่อไปลองปรับ Ray Tracing แบบ Ultra ก็ได้เฟรมเรตเฉลี่ย 45-50 fps ก็ยังไหว

ลองเล่นพร้อมอัดคลิปหน้าจอไปด้วย

สรุป

Shops
แชร์ :
review
  • ประสิทธิภาพ
    (5)
  • สเปค / ฟีเจอร์
    (4.5)
  • ราคา / ความคุ้มค่า
    (4)
4.5

Summary

สำหรับความแรงของ Intel Core i9-14900K ก็เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า “แรงจริง” คะแนนนผลทดสอบต่าง ๆ ก็อยู่ในระดับสูงตามคาด แต่ในรีวิวนี้สิ่งที่อยากดูมากที่สุดก็คือเรื่องของ AI หรือ Intel XTU with AI Assist ที่ทาง Intel ชูว่าเป็นฟีเจอร์ใหม่ที่มีเฉพาะใน Intel 14th Gen เท่านั้น โดยช่วยให้การ Overclock ง่ายขึ้น ซึ่งจากที่ได้ลองใช้ดูแล้ว ก็ยอมรับเลยว่าง่ายจริง และเห็นผลจริง ปุ่มเดียวรู้เรื่อง ความเร็วพุ่ง 6.1 GHz แบบง่าย ๆ เลย ไม่ต้องปรับแต่งไฟเลี้ยง หรืออะไรมากมาย

ท้ายนี้ก็ขอฝากเรื่องการเลือกสเปกใช้งานสำหรับ Intel Core i9-14900K ซักนิด ว่าตามตรงซีพียูตัวนี้ถือว่ามีราคาสูง (24,XXX บาท) และมันไม่ได้สูงแค่ตัวเดียว แต่มันจะลากทั้งเมนบอร์ด ชุดระบายความร้อน และชุดจ่ายไฟ PSU ให้สูงตามไปด้วย อย่างเมนบอร์ดก็ควรใช้เป็น Z790 ไปเลย เพื่อให้มีไฟเลี้ยงเพียงพอ ชุดระบายความร้อนก็ควรเป็นชุดน้ำ 3 ตอนเกรดดี ๆ ในงบ 4-5 บาทพันขึ้นไป เพื่อที่ประสิทธิภาพจะได้ไม่ลดเวลาเกิดความร้อน ตัว PSU ก็ควรใช้เป็น 850W ขึ้นไป เพราะตัว i9 กินไฟใช่เล่น สุดท้ายการ์ดจอ ถ้าเป็นไปได้ก็ควรใช้ร่วมกับเจนล่าสุดอย่าง RTX 40 Series หรือ RX 7000 Series แต่จะใช้กับการ์ดจอรุ่นเก่าที่มีอยู่ไปก่อนได้ อย่างในรีวิวนี้ได้ลองใช้ RTX 2060 ดูแล้ว ผลก็ไม่ได้ขี้เหร่อะไรมาก เพราะยังไงซีพียูก็มักเป็นส่วนที่อยู่ไปอีกนาน ในขณะที่การ์ดจอมีโอกาสเปลี่ยนบ่อยกว่า

Comments Rating 0 (0 reviews)

Leave a Reply

User Review
  • ประสิทธิภาพ
    Sending
  • สเปค / ฟีเจอร์
    Sending
  • ราคา / ความคุ้มค่า
    Sending

Follow us
Most popular
Category
Tag

Relate Article