รีวิว : ASUS TUF Gaming AX6000 ให้ Wi-Fi แรงแบบทั่วถึง

โจทย์ของการซื้อเราเตอร์สักตัว คงไม่พ้นขอกระจายสัญญาณ Wi-Fi ได้แรง ๆ เอาให้คุ้มกับบริการอินเทอร์เน็ตระดับ 1 Gbps ขึ้นไป และสุดท้ายขอใช้งานง่ายด้วย รีวิวนี้พบกับ ASUS TUF Gaming AX6000 เราเตอร์ Wi-Fi 6 พร้อมความเร็วระดับ 6000 Mbps เด่นทั้งดีไซน์กับประสิทธิภาพ และพร้อมใช้ได้เต็มประสิทธิภาพทันที โดยไม่ต้องตั้งค่าอะไรก่อนมากมาย 

ฟีเจอร์เด่น ASUS TUF Gaming AX6000 

  • Ultrafast WiFi 6 – Ultra WiFi speed up to 6000 Mbps and 4X network efficiency.
  • Dual 2.5G Ports – Dual 2.5G ports with flexible WAN/LAN port configuration.
  • Fast & Stable Wired Gaming – Dedicated gaming port to prioritize connected gaming device““
  • ASUS AiMesh Support – Support AiMesh to create a whole-home mesh network.
  • Tested Durability and Stable Operation – TUF Gaming AX6000 is built to be durable and undergoes verified testing to ensure reliable, stable operation.


ดูรายละเอียดสเปกเพิ่มเติมได้ที่ https://www.asus.com/th/networking-iot-servers/wifi-routers/asus-gaming-routers/tuf-gaming-ax6000/techspec/

แกะกล่อง

อุปกรณ์เด่นในกล่อง นอกจากตัวเราเตอร์แล้ว ก็มีสาย RJ-45 x 1 ชุดคู่มือ/ใบรับประกัน และชุดไฟเลี้ยง ที่แถมหัวต่อมาให้ 3 แบบ เอาไปเลือกใช้งานได้ตามความเหมาะสม 

งานออกแบบ

หากใครเพิ่งมาเห็น ASUS TUF Gaming AX6000 ตัวนี้ ก็คงบอกว่าเป็นเราเตอร์เกมมิ่งที่หล่อแบบกำลังดี แต่สำหรับผมที่เคยรีวิวเราเตอร์ TUF ซีรีส์มาแล้ว 2 รุ่น ก็บอกได้แค่ว่า “นี่คือพี่ชายฝาแฝดคนที่ 3 สินะ” คือดีไซน์ทั้ง 3 รุ่น ก็เหมือนกันทั้ง 3 รุ่นเลย ที่ยังคงความโฉบเฉี่ยว พร้อมสีดำหล่อเข้มเหมือนเคย

พอร์ตด้านหลังก็จัดมาให้แบบครบ ๆ มีพอร์ต LAN แบบ Gigabits ให้ 4 ช่อง และพอร์ตเชื่อมต่อเด่นเลยอย่าง Dual 2.5G คือมีพอร์ต LAN แบบ 2.5 GHz ให้ทั้ง WAN และ LAN ช่อง WAN ก็เอาไว้รองรับโมเด็มเราเตอร์ความเร็วสูง ใครสมัครเน็ตระดับ 2 GHz ได้ใช้แน่ ส่วนช่อง LAN ก็เอาไว้สำหรับต่อพ่วงอุปกรณ์อื่น ๆ เช่น NAS เพื่อให้ได้ความเร็วโอนถ่ายไฟล์ที่มากยิ่งขึ้น แต่หากไม่มี NAS ก็มีช่อง USB 3.2 Gen 1 x 1 สำหรับทำ Cloud แบบย่อม ๆ มาให้ อนึ่งพอร์ตทั้งหมดมีกรอบอลูมิเนียมเพื่อความทนทานด้วย 

สำหรับตัว ASUS TUF Gaming AX6000 รอบนี้ก็จัดเสามาให้ถึง 6 เสา แบบ Dual Band ที่มีทั้งคลื่น 2.4 GHz 4×4 ความเร็ว 1148 Mbps และคลื่น 5 GHz 4×4 ความเร็ว 4804 Mbps มาพร้อมเทคโนโลยีช่วยกระจายสัญญาณ Wi-Fi ทั้ง OFDMA , BSS coloring และ MU-MIMO

เพื่อการใช้งานอย่างต่อเนื่องและเสถียร ภายในตัว ASUS TUF Gaming AX6000 ก็มีชิปประมวลผลแบบ Quad-Core ความเร็ว 2.0 GHz กับ 256 MB Flash/512 MB RAM ช่วยระบายความร้อนด้วย Heatsinks อลูมิเนียมที่เคลือบ Nanocarbon มาให้ 2 ชั้น ให้ใช้งานแบบ Full Option ได้ต่อเนื่องเป็นเวลานาน ๆ นับว่าเป็นอีกข้อดีของเราเตอร์ but เกมมิ่ง

เทียบขนาดตัวเราเตอร์กับข้อมือ อนึ่งตัวเราเตอร์มีน้ำหนักอยู่ที่ 696 กรัม แอบหนักอยู่นิด ๆ เหมือนกัน

การตั้งค่า

ตามฐานะแล้ว เราเตอร์ ASUS TUF จะเป็นรุ่นระดับกลาง ๆ สูงกว่านี้ก็เป็นตัว ROG ดังนั้นฟีเจอร์การใช้งานต่าง ๆ ก็จะมีมาให้แบบพอดี ไม่สุดและหลากหลายเหมือนรุ่น Hi-End จึงนับเป็นข้อดีของตัวเราเตอร์นี้เลย เพราะช่วยให้ใช้งานได้ง่าย ไม่ยุ่งยาก ลองดูได้จากหน้าตั้งค่าตามนี้

ตัวเครื่องสามารถตั้งค่าผ่านแอปฯ ให้โหลดและติดตั้ง เสร็จแล้วก็เชื่อมต่อ Wi-Fi ตัวเราเตอร์ และทำการเปิดแอปฯ Asus Router ขึ้นมา ก็จะเห็นไอคอนตัว ASUS TUF Gaming AX6000 ปรากฏตามภาพ กดเลือก แล้วทำตามขั้นตอน จากนั้นก็ตั้งชื่อ Wi-Fi และรหัสให้เรียบร้อย เป็นอันเสร็-

ยัง ยังไม่เสร็จครับ หลังตั้งค่าตัวเราเตอร์แล้ว ก็ต้องอัปเดตเฟิร์มแวร์ให้เป็นรุ่นล่าสุดด้วย ซึ่งปกติหลังแกะกล่องใหม่ ๆ ตัวเฟิร์มแวร์จะยังเป็นรุ่นเก่าอยู่ หากต้องการใช้งานอย่างปลอดภัยและเสถียร ควรมากดอัปไว้ก่อนเลย โดยไปที่เมนู ‘การตั้งค่า’ เลือก ‘การปรับรุ่นเฟิร์มแวร์’ จากนั้นก็ทำการอัปเดตให้เรียบร้อย เป็นอันเสร็จอย่างแท้จริง

เข้าสู่หน้าแรกหรือ Home ของตัวเราเตอร์ หากมาถึงจุดนี้ได้ก็เท่ากับว่าตัวเราเตอร์พร้อมใช้งานแบบเต็มประสิทธิภาพแล้ว จากขั้นตอนทั้งหมดก็ไม่มีความยุ่งยากอะไรเลย อาจจะใช้เวลานิด ๆ ตอนอัปเฟิร์มแวร์ นอกนั้นก็แทบไม่มีอะไรติดขัด 

ฟีเจอร์เด่น

เข้าสู่ฟีเจอร์เด่น ประเดิมด้วยไฟ LED บนตัวเราเตอร์ ที่สามารถปรับแต่งผ่านแอปฯ ได้เลย มีเอฟเฟคให้เลือกหลากหลาย

ฟีเจอร์คู่บุญตลอดกาลของเราเตอร์ ASUS ซึ่งให้แทบทุกรุ่นเลยอย่าง ‘ตัวเร่งความเร็วในการเล่นเกม’ หรือจะเรียกสั้น ๆ ว่า “โหมดเกมมิ่ง” ก็ได้ ซึ่งช่วยปรับ QoS ให้การเล่นเกมมาเป็นอันดับหนึ่งโดยทันที เป็นการดึงทรัพยากรการประมวลผลทั้งหมดในเราเตอร์ มาประมวลผลการเล่นเกมนั้น ช่วยให้เล่นเกมออนไลน์ผ่านสมาร์ทโฟนได้ไม่มีสะดุด (หรือสะดุดน้อยลง) โดยลด Latency หรือ Ping ไปได้ประมาณหนึ่ง 

นอกจากเล่นเกมแล้ว ก็สามารถปรับ QoS ให้เหมาะกับการใช้ได้ตามต้องการ จะดูหนัง ฟังเพลง ท่องเว็บ หรือโหมด NAS ก็ปรับได้อย่างง่าย ๆ ตามนี้

Extendable Router หรือ AiMesh ที่ ASUS ใช้เรียกสำหรับการทำ Mesh Wi-Fi ซึ่งจุดนี้ถือเป็นจุดเด่นอีกจุดนึงที่เคลมเอาไว้ว่า สามารถนำเราเตอร์ AX รุ่นใดก็ได้มาเชื่อมต่อก็สามารถสร้างเครือข่าย Mesh WiFi ในบ้านได้ และ AIProtection ที่ช่วยรักษาความปลอดภัย ทั้งการบล็อกเว็บที่อันตราย เช่น เว็บแฝงมัลแวร์ รวมถึงความปลอดภัยอื่น ๆ 

สำหรับช่อง USB ด้านหลังตัวเราเตอร์เอาไว้ทำอะไร ก็ลองดูได้จากหน้าตั้งค่านี้เลย คือตัวเราเตอร์สามารถนำพวก ExHDD หรือ ExSSD พกพา มาต่อเพื่อทำเป็นที่เก็บไฟล์ผ่าน FTP หรือจะเรียกว่า Cloud ก็ได้ 

ปิดท้ายด้วยฟีเจอร์ชูโรงของ ASUS TUF Gaming AX6000 (ซึ่งคงมีในเราเตอร์ ASUS อีกหลาย ๆ รุ่นนับจากนี้) อย่าง VPN Fusion เรียกใช้ทั้ง VPN และการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตทั่วไปได้พร้อมกัน เปิดใช้งานจากตัวเราเตอร์โดยตรงเลย 

ประสิทธิภาพ

สำหรับการทดสอบประสิทธิภาพเราเตอร์ครั้งนี้ ทาง ASUS ได้ส่ง USB-AX55 Nano หรือตัวรับสัญญาณ Wi-Fi 6 ติดมาให้ด้วย กรณีที่เครื่อง Desktop PC ไม่มีเสารับ Wi-Fi หรือโน้ตบุ๊กรองรับเฉพาะ Wi-Fi 5 ซึ่งทำให้รองรับประสิทธิภาพได้ไม่เต็มที่ ครั้งนี้ก็ขอใช้โน้ตบุ๊กพร้อมตัวรับดังกล่าว ทดสอบตัว ASUS TUF Gaming AX6000 เพื่อดูเลยว่า หากทั้งตัวส่งสัญญาณและรับสัญญาณเป็น Wi-Fi 6 ทั้งคู่ จะให้ความเร็วอินเทอร์เน็ต (ที่สมัครไว้ 1 Gbps หรือ 1000/500 Mbps) ได้ดีแค่ไหน

ทดสอบแรกจากระยะใกล้ ก็ได้ไปเต็ม ๆ ที่ 945 Mbps สำหรับความเร็วโหลด และ 575 Mbps สำหรับความเร็วอัปโหลด ดึงประสิทธิภาพของบริการเน็ต 1000/500 Mbps ได้เต็มที่ คอยคุ้มกับที่จ่ายรายเดือนหน่อย

ลองทดสอบจากระยะใกล้อีกรอบ ก็ยังได้ความเร็วสูงเท่าเดิมเลย

ลองออกห่างจากตัวเราเตอร์อีกประมาณ 1 ห้อง ผลคือได้ความเร็ว 907/557 Mbps ตกมานิดเดียว ช่วยให้เห็นประสิทธิภาพของการกระจายสัญญาณ Wi-Fi ได้เป็นอย่างดี

สรุป

ASUS TUF Gaming AX6000 นับเป็นเราเตอร์ที่มีความ ‘ครบเครื่อง’ คือไม่ได้สุดไปทางใดทางหนึ่ง แต่มีฟีเจอร์ที่จำเป็นเท่านั้น จึงช่วยให้ตัวเราเตอร์ที่มีความเร็วระดับ 6 GHz มีราคาไม่สูงจนเกินไป นับว่าเหมาะสำหรับบ้านที่มีสมาชิกครอบครัวอยู่เป็นจำนวนมาก ผนวกกับชิปประมวลผลแบบ Quad-Core เร็วระดับ 2.0 GHz ก็ช่วยให้หมดปัญหาการ ‘แย่งเน็ต’ ได้ แม้มีหลายอุปกรณ์เข้ามาเชื่อมต่อพร้อมกัน ก็ยังทำงานได้อย่างเสถียร

ท้ายนี้ตัว ASUS TUF Gaming AX6000 เปิดราคาอยู่ที่ 7,990 บาท มาพร้อมประกัน 3 ปีแต่ถ้าลงทะเบียนเพิ่มเป็น 5 ปีได้เลย ลงทะเบียนภายใน 30 วันหลังซื้อสินค้า หาซื้อได้แล้วตามร้านไอทีทั่วประเทศ

Shops
แชร์ :
review
  • วัสดุ / การออกแบบ
  • สเปค / ฟีเจอร์
  • ราคา / ความคุ้มค่า
Comments Rating 0 (0 reviews)

Leave a Reply

User Review
  • วัสดุ / การออกแบบ
    Sending
  • สเปค / ฟีเจอร์
    Sending
  • ราคา / ความคุ้มค่า
    Sending

Follow us
Most popular
Category
Tag

Relate Article