[ม้ามืดที่ไม่ควรมองข้าม] เพื่อลบภาพจำของการ์ดจอ ‘ออนบอร์ด’ ที่หลายคนอาจมองว่าไม่เหมาะกับการเล่นเกม รีวิวนี้บอกเลยว่า นี่คือการ์ดจอแยก “เพื่อคอเกม” ที่แท้จริงจาก Intel แต่ขณะเดียวกับก็ยังไม่ทิ้งจุดเด่นที่เคยมีใน Intel UHD Graphics หรือ Iris Xe
สำหรับใครที่กำลังมองหาการ์ดจอประสิทธิภาพสูง เล่นเกม Next Gen หรือ AAA แบบปรับสุดได้ พร้อมกับอยากได้ฟีเจอร์ของการ์ดจอสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็น Ray Tracing แสงเงาสมจริง หรือ AI Upscale ช่วยเพิ่มความลื่นไหล หมดนี้ไม่เกินหมื่นมีหรือไม่ ? คำตอบคือมี
รีวิวนี้ขอเชิญพบกับ Intel Arc A750 Limited Edition การ์ดจอดีไซน์ Reference ส่งตรงจาก Intel สวยงามเรียบหรู มาพร้อมความแรงท้าชน RTX 3060 ในราคาที่เข้าถึงง่ายกว่า และไดรเวอร์ตัวล่าสุด ที่เสถียรยิ่งกว่าเดิมแล้ว ซึ่งจะเล่นเกมหลาย ๆ เกมได้ลื่นไหลแค่ไหน โดยเฉพาะเกมแห่งปีอย่าง Hogwarts Legacy อีกทั้งยังมีส่วนข้อสังเกตอะไรบ้าง ลองมาดูรีวิวนี้กันครับ
รายละเอียดสเปก Intel Arc A750 Limited Edition
- GPU Architecture : Alchemist
- Xe-cores/XMX Engines : 28/448
- Render Slices : 7
- Ray Tracing Units : 28
- Graphics Clock : 2050 MHz
- Memory Config : 8GB GDDR6 @ 16Gbps
- Memory Interface : 256-bit
- Memory Bandwidth : 512 GB/s
- System Interface : PCIe Gen 4.0 x16
- Power (TBP) : 225W
- Power Connector : 8-Pin x 1 , 6-Pin x 1
- HW Accelerated Media : AVI (E&D), HEVC (E&D), H.264 (E&D), VP9 Bitstream & Decoding
- Display Outputs : DisplayPort 2.0 x 3 , HDMI 2.1 x 1
- Form Factor : 10.5″ Length, Dual Slot, Full Height
- API Support : DirectX 12 Ultimate, OpenGL 4.6, OpenCL 3.0, Vulkan 1.3
- OS Support : Windows 10 / Windows 11
- Intel Deep Link Technologies : Yes
- Warranty : 3 Years
สถาปัตยกรรมไมโคร Xe High Performance Graphics
ตัว Intel Arc A750 มาพร้อมชิปสถาปัตยกรรมอย่าง Xe High Performance Graphics หรือ Xe HPG ที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อใช้งานได้ดีทั้งเกมมิ่งและครีเอเตอร์โดยเฉพาะ ซึ่งใน Intel Arc A750 ก็มาพร้อม Xe Core ที่ 28 Core และ Ray Tracing อีก 28 Units ทั้งยังมีเทคโนโลยีอัปสเกลหรือ AI Upscale ด้วยอย่าง XeSS พร้อมรองรับ DirectX 12 Ultimate
แกะกล่อง
หากดูผิวเผิน หลายคนอาจคิดว่าเป็นกล่องการ์ดจอสำหรับงาน Workstation คือเป็นกล่องที่มีความเป็น (Intel จ๋า ๆ) ตัวของตัวเองมาก ๆ ให้อารมณ์เป็นของ Limited Edition โดยแท้ ภายในก็มีตัวการ์ดจอ Intel Arc A750 กับชุดคู่มือ และสติกเกอร์โลโก้การ์ดจอ แบบเดียวกับที่เห็นในซีพียู Intel มาเลย
งานออกแบบ
ตัวการ์ดมาพร้อมพัดลมระบายความร้อน 2 ตัว กับขนาดที่ไม่ได้ใหญ่มาก (แต่แอบหนักอยู่เหมือนกัน) การออกแบบโดยรวมบอกได้เลยว่า ‘พรีเมี่ยม’ ไม่น่าเชื่อว่านี่คือการ์ดจอระดับกลางค่อนสูง คือทั้งวัสดุและงานประกอบ เทียบชั้นกับการ์ดจอระดับ Top ได้เลย เอาจริง ๆ นะ การ์ดจอดูดุดันกว่าที่คิด คือมันเป็นสีดำทั้งตัวมาเลย
ตัวเพลทหลังก็ยังมีลวดลายสวยงาม สวยทั้งฝั่งที่มีพัดลมและฝั่งนี้กันเลย
พัดลมแบบ 15 ใบพัด ที่ทาง Intel ชูเลยว่า ทำงานเงียบ แต่ไม่ทิ้งประสิทธิภาพการระบายความร้อน
ลองดูด้านข้างกันบ้าง จุดนี้จะเห็นขอบสีเงิน ตัดกับสีดำทั้งตัวของตัวการ์ดจอ ด้าน Power Connector หรือช่องต่อไฟเลี้ยง ก็มาเป็นแบบ 8-Pin กับ 6-Pin ดั้งเดิม ซึ่งตัวการ์ดจอก็มีค่า Power (TBP) อยู่ที่ 225W ก็อาจต้องหา PSU ขนาด 600W หรือ 700W ขึ้นไปเลยยิ่งดี
ถือเป็นครั้งแรกเลยที่เห็นฝาหลังเป็นสีดำแบบนี้ จากปกติมักจะเป็นสีเงิน จุดนี้ก็จะเห้นพอร์ตเชื่อมต่อที่มีทั้ง DisplayPort 2.0 x 3 และ HDMI 2.1 x 1
การติดตั้ง
ในรีวิวนี้ก็ขอจับคู่ระหว่าง Intel Arc A750 กับ Intel Core i5-13500 ซีพียูเจน 13 ตัวล่าสุด และเป็นรุ่นยอดนิยมสำหรับใครที่อยากประกอบคอมฯ แบบเน้นความแรงแต่คุ้มค่า ซึ่งก็ตรงกับตัวการ์ดจอ Intel Arc A750 ที่มาสายแรงแต่คุ้มค่าเหมือนกัน หากจัดคู่กันได้ ก็อาจได้ราคาที่กำลังดีเลย
แอบเสียดายนิด ๆ ที่รุ่น A750 ไม่ได้มีไฟ RGB จัดเต็มเหมือนตัว A770 ที่เป็น Intel Arc Series ตัว Top สุด แต่สำหรับ A750 ก็ได้ความเรียบหรูมาแทน
Intel® Arc™ Graphics Drivers
มาถึงในส่วนไดรเวอร์ของ Intel Arc หรือขื่อเต็ม ๆ ว่า Intel® Arc™ Graphics Drivers ค่อนข้างเป็นประเด็นพอควร ในตอนที่ Intel เปิดตัวการ์ดจอแยกเป็นครั้งแรก คือต้องบอกเลยว่า การ์ดจอจะเล่นเกมได้ดีแค่ไหนนั้น ไดรเวอร์ต้องเสถียร จะได้สามารถขับประสิทธิภาพของตัวการ์ดจอได้เต็มที่ เล่นเกมได้ลื่น ๆ ซึ่งช่วงแรกก็เป็นไปตามข่าวที่ได้ยินกันเลย ทว่าในรีวิวนี้ จะไม่เหมือนในข่าวแน่ เพราะปัจจุบันทาง Intel ได้ออกไดรเวอร์ตัวล่าสุดแล้วอย่าง 31.0.101.4146 ประจำวันที่ 22 ก.พ. 66 ซึ่งจะเล่นเกมได้ดีขึ้นแค่ไหน เดี๋ยวลองมาดูกัน
ยืนยันว่าเป็น Intel® Arc™ Graphics Drivers รุ่น 31.0.101.4146 ตัวล่าสุด (ณ ตอนที่รีวิว)
ลองสำรวจฟีเจอร์ต่าง ๆ ของไดรเวอร์ ในส่วนหัวข้อนี้ก็จะเห็นรายละเอียดการทำงานของการ์ดจอทั้งหมด ละเอียดยันจำนวน Core จำนวนวัตต์ อุณหภูมิล่าสุด และอื่น ๆ อีกมากมาย
และไฮไลท์เลยคือ หน้าปรับแต่งการทำงานหรือจะเรียกว่าเป็นหน้า Overclock ของตัวการ์ดจอก็ได้ ใช้งานง่ายมาก แต่ก็ไม่ควรดันเล่น ๆ เพราะนี่คือการดันแรงดันไฟพร้อมกับปรับความแรงไปด้วยกัน
ถัดจากหน้า Overclock ก็มีหน้าสำหรับสายสตรีมด้วย โดยมีทั้งอัดหน้าจอหรือวิดีโอ ทั้งการสตรีม และแคปไฮไลท์เด็ด ๆ ของเกมที่เล่น โดยไม่ต้องคอยกดอัดตลอด ตัว AI จะเลือกช็อตเด็ดให้เองเลย ทว่าเกมก็ต้องรองรับด้วยนะเออ (รายชื่อตามที่เห็นในภาพเลย)
สุดท้ายหน้าบอกรายละเอียดของตัว Intel Arc A750 โดยรวมคงบอกได้ว่าตัวไดรเวอร์มีลูกเล่นแบบกำลังพอดี เข้าใจได้ว่ายังใหม่ และในบางฟีเจอร์แอบมีอาการค้างนิด ๆ ขณะใช้งานด้วย ก็ต้องรออัปเดตกันไปครับ
ประสิทธิภาพ
ก่อนจะไปลุยเกม ขอเทสประสิทธิภาพผ่าน 3D Mark หน่อย จะได้เอาผลเทสไปเทียบกับการ์ดจอคู่แข่งได้ ซึ่งสเปกที่ใช้สำหรับทดสอบตัว Intel Arc A750 ก็มีตามนี้เลย
GPU : Intel Arc A750 Limited Edition 8GB GDDR6
CPU : Intel Core i5-13500 4.80 GHz
M/B : GIGABYTE Z690 GAMING X DDR4
RAM : Kingston FURY Beast RGB DDR4 32GB 3200 MHz [8GB x 4]
SSD : Kingston KC3000 PCIe 4.0 2TB
PSU : SilverStone DA850 850W Gold
OS : Windows 11 Home
3D MarK Fire Strike
ประเดิมด้วย Fire Strike ทั้ง 3 ระดับ ผลเทสคือ…. แรงเทียบกับ RTX 3060 Ti ยังได้เลย เกินคาดมาก ๆ แสดงให้เห็นเลยว่า Intel Arc A750 อาจมีอนาคตไกลแน่นอน รอดูการอัปเดตไดรเวอร์ในแต่ละครั้งไว้เลย
3D MarK Time Spy
ด้าน Time Spy ก็เช่นกัน แรงเทียบชั้น RTX 3060 Ti ได้อีกเหมือนกัน
ในส่วนการระบายความร้อน ก็ลองรีดประสิทธิภาพแบบเต็ม 100% ก็จะเห็นอุณหภูมิสูงสุดอยู่ที่ 74 องศา ถือว่าระบายความร้อนได้กำลังดีเลย แต่จุดที่ต้องชมจริง ๆ คือ เสียงพัดลมเงียบมาก ๆ แม้จะทำงานแบบเต็มที่ก็ตาม
Gameplay
มาถึงส่วนสำคัญของรีวิวนี้แล้ว ครั้งนี้ลองทดสอบไป 3 เกมหลัก และเกมที่จะเน้นเป็นพิเศษเลยคือ Hogwarts Legacy ซึ่งรองรับเทคโนโลยี XeSS sinv AI Upscale ช่วยเพิ่มความลื่นไหลหรือเพิ่มค่า fps เฟรมเรตของเกมได้มากขึ้นด้วย นอกจาก XeSS ก็ยังมีการรองรับ Ray Tracing ซึ่งเดี๋ยวมาดูกันเลยว่า ตัว Intel Arc A750 จะทำได้ดีขนาดไหน กับไดรเวอร์ Intel® Arc™ Graphics Drivers ตัวล่าสุด
Hogwarts Legacy
ลองปรับกราฟฟิกเกมเป็นสูงสุดหรือ Ultra ทั้งหมด ในความละเอียด Full HD จุดนี้หากอย่างเล่นแบบลื่น ๆ โดยที่ยังได้ภาพที่สวยงามอยู่ ก็ลองเปิด XeSS แบบ Quality ก็จะได้เฟรมเรตที่ 70 fps ลื่น ๆ กันเลย
ต่อไปลองประสิทธิภาพการ์ดจอแบบเพียว ๆ ไม่มี XeSS ช่วย โดยยังปรับเป็น Ultra เช่นเคย ก็ได้เฟรมเรตเฉลี่ยที่ 44 fps ซึ่งก็ยังเล่นได้ และภาพเกมเพลย์ที่บอกเลยว่า สวยงามมากก เพราะเป็นการแสดงผลแท้ ๆ แบบไม่มี AI มาช่วยจำลอง
ต่อไปลองปรับความละเอียดแบบแรก โดยมี XeSS Quality ช่วย ก็ได้เฟรมเรตนิ่ง ๆ ที่ 60 – 70 fps เล่นกันแบบลื่น ๆ กันเลย
ต่อไปลองเปิดใช้งาน XeSS แบบ Ultra ดูบ้าง ก็ได้เฟรมเรตลดลงมาระดับหนึ่ง แต่แลกกับภาพเกมเพลย์ที่สวยคมขึ้น
ลองเปิดใช้งาน Ray Tracing แบบ Ultra ขั้นสุด แต่ยังมี XeSS ช่วย ก็ยังได้ความลื่นไหลในระดับที่เล่นได้ลื่น ๆ อยู่ แม้จะออกมานอกโรงเรียนที่เป็นพื้นที่เปิดก็ตาม
สุดท้ายลองของ เปิด Ray Tracing แต่ปิด XeSS ก็จะได้ภาพที่มีแสงเงาแบบจัดเต็ม แต่หากเล่นเกมนี้ แนะนำให้เปิดใช้งานขณะที่อยู่ในโรงเรียนฮอกวอตส์ จะเป็นการดี ดูจากเฟรมเรตก็อาจจะรู้คำตอบ
Cyberpunk 2077
เกมต่อไปลองเล่น Cyberpunk 2077 ปรับภาพสุดที่ Ultra ความละเอียด Full HD ไม่มี XeSS ช่วย ก็ได้เฟรมเรตเฉลี่ย 44 – 56 fps
ถามว่าลื่นไหม ? ก็ลองดูตามในคลิปเลยครับ ขนาดไม่ได้เปิด Ray Tracing ก็ยังได้การแสดงผลแสงเงาที่สวยใช้ได้เลย
Battlefield 2042
เกมต่อไป Battlefield 2042 เหมือนกัน ปรับภาพ Ultra ความละเอียด Full HD ไม่มี Ray Tracing และ XeSS เน้นเพียว ๆ ก็ได้เฟรมเรตไปถึง 90 fps กันเลย ลื่นไหลแบบสุด ๆ
คลิปยืนยันความลื่นไหล เฟรมเรตก็อยู่ประมาณ 70 – 90 fps
Borderlands 2
ลองเกมเก่า ๆ บ้าง ลองดูว่าตัวไดรเวอร์ของ Intel สามารถเล่นได้ไหม ก็ตามในคลิปเลย เล่นได้ แต่แอบมีค้างนิด ๆ ในตอนเข้าเกมครั้งแรก
CS:GO
สุดท้ายลองเกม Counter-Strike: Global Offensive หรือ CS: GO ที่ก่อนหน้านี้เคยมีปัญหา ปัจจุบันไม่มีแล้ว เล่นได้สบาย ๆ