สำหรับใครที่กำลังมองหาการ์ดจอสำหรับ Desktop PC หรือโน้ตบุ๊กเกมมิ่งตัวใหม่ เชื่อว่าหลายคนคงดูเฉพาะตัวเลข RTX 30XX , 20XX หรือ GTX 16XX มากกว่า จนอาจลืมไปว่าระหว่าง RTX กับ GTX ทั้งสองซีรีส์มันมีความแตกต่างกันอยู่ หรือแม้กระทั่ง RTX 30 กับ RTX 20 ซึ่งเป็น RTX ซีรีส์เหมือนกันก็จริง แต่ก็มีความแตกต่างเช่นเดียวกัน ในบทความนี้จะมาเล่าถึงความแตกต่างของการ์ดจอ NVIDIA Series กันครับ รวมถึงอะไรคือ NVIDIA DLSS กับ Ray Tracing ที่ทาง NVIDIA ภูมิโจนำเสนอสุด ๆ
RTX vs GTX
แทบจะเป็นที่ชัดเจนอยู่แล้วว่า ‘ใหม่ย่อมดีกว่ากว่า’ เช่นเดียวกับทาง NVIDIA แบรนด์ผู้ผลิตการ์ดจอ ซึ่งปัจจุบันได้เปิดตัวซีรีส์การ์ดจอใหม่อย่าง GeForce RTX พร้อมชูโรงสองเทคโนโลยีอย่าง Ray Tracing กับ DLSS ตัวช่วยที่ทำให้ชีวิต (เกมเมอร์) ง่ายขึ้น และแน่นอนมีว่าเฉพาะใน RTX ซีรีส์เท่านั้น ไม่มีใน GTX เนื่องจากเป็นส่วนประมวลผลระดับฮาร์ดแวร์ ที่ฝั่งมากับตัวชิปใน RTX ซีรีส์มาเลย
Ray Tracing กับ DLSS คืออะไร
Ray Tracing กับ DLSS เรียกได้ว่าเป็นการใช้ AI มาช่วยประมวลผลการ์ดจอให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ชนิดเห็นผลทันตา เริ่มจาก Ray Tracing ตัวช่วยประมวลผล ‘แสงเงา’ ในเกม ซึ่งสามารถทำได้แบบเรียลไทม์ ทำให้เห็นแสงกระพริบ เห็นเงาสะท้อน ได้เหมือนกับของจริงเลย ช่วยเพิ่มความสวยงามของภาพในเกมยิ่งขึ้นมาก
อย่างไรก็ตาม Ray Tracing ใช้ได้เฉพาะบางเกมเท่านั้น โดยเฉพาะเกมระดับ AAA ชื่อดัง ที่จะมีโหมด RTX On เอาไว้เปิดปิด Ray Tracing โดยเฉพาะ แต่ทั้งนี้ก็มีเกมเมอร์หลาย ๆ คน กลับเลือกที่ปิดโหมดนี้ไปซะฉิบ เนื่องจากมันกินสเปกการ์ดจอไม่น้อย จนทำให้ความลื่นไหลหรือเฟรมเรต (fps) ของเกมลดลงได้ ทว่าถ้าใช้ RTX 30 ตัว Hi-End ขึ้นไป ก็ยิ่งทำให้ประมวลผล Ray Tracing ได้ลื่นขึ้นตามนั้น
ส่วน DLSS (Deep Learning Super Sampling) ตัวนี้จะตรงกันข้ามกับ Ray Tracing คือช่วยเพิ่ม fps แทนที่จะลด (ฮ่า) แต่ก็แน่นอนว่ามีสิ่งที่ต้องแลกเหมือนกัน โดยรวม DLSS คือตัวช่วยลบรอยหยักด้วย AI จากทาง NVIDIA โดยใช้ชิป Tensor Core ที่มีใน RTX แทนที่จะใช้ชิปการ์ดจอโดยตรง ส่งผลให้ช่วยลดภาระของการ์ดจอ จนสามารถดัน fps ได้มากขึ้นนี้เอง ทว่าบางครั้ง AI ก็ประมวลผลรอยหยักได้ไม่สวยเท่าชิปหลัก จนอาจทำให้ภาพเกมมีความสวยลดลงไปบ้าง และไม่ได้รองรับทุกเกมเช่นเดียวกับ Ray Tracing เหมือนกัน
RTX 30 กับ RTX 20 ต่างกันอย่างไรบ้าง
สำหรับ RTX 30 กับ RTX 20 แม้จะมี Ray Tracing กับ DLSS รองรับทั้งคู่ แต่ก็มีเรื่องของ ‘เวอร์ชั่น’ ด้วย อย่างตัว Ray Tracing ใน RTX 30 จะเป็นเจเนอเรชันที่ 2 ส่วน RTX 20 จะเป็นเจเนอเรชันที่ 1 แน่นอนว่าเจน 2 ย่อมดีกว่า ในส่วนชิป Tensor Core ในตัว RTX 30 เป็นรุ่น 3.0 ส่วน RTX 20 เป็นรุ่น 2.0 นอกจากนั้นยังมีในส่วนแรมที่รองรับได้มากกว่าด้วย และตัวสถาปัตยกรรมที่ฝั่ง RTX 30 เปลี่ยนมาใช้ Ampere แทนที่ Turing เดิมใน RTX 20
สรุปใครที่กำลังเล็งซื้อการ์ดจอใหม่หรือโน้ตบุ๊กเกมมิ่งใหม่ ก็ขอแนะเลยว่าอย่าลืมดูส่วน ‘ซีรีส์’ ของการ์ดจอด้วย เพราะแต่ละซีรีส์มีความต่างกันชัดเจนทีเดียว แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับงบด้วยเช่นกัน ซึ่งต้องยอมรับเลยว่าการ์ดจอ RTX 20 กับ GTX ทั้ง 10 และ 16 ซีรีส์ ปัจจุบันมีราคาเข้าถึงง่ายกว่าเดิมมาก ๆ โดยเฉพาะฝั่งโน้ตบุ๊ก ที่มีโปรโมชั่นจัดเต็มเอาเรื่อง ถ้าพิจารณาแล้วว่า เราต้องการเล่นเกมแบบ ‘พอเล่นได้’ ก็เอาตามที่งบมีและสะดวกเราได้ แต่ถ้ามีงบสูง ก็จัดรุ่นใหม่เน้นใช้งานเผื่ออนาคตยาว ๆ ไปเลยครับ