ย้อนกลับไปตอนรีวิว Tapo C310 ตอนนั้นชูโรงสเปกระดับ 3 ล้านพิกเซล ซึ่งก็ให้ภาพได้คมชัดได้มาก ๆ แล้ว คราวนี้ลองลองมาดูรุ่นที่มาพร้อมความคมชัดระดับ 4 ล้านพิกเซลกัน และยังถ่ายภาพสีตอนกลางคืนได้อีกด้วย
รีวิวนี้พบกับ TP-Link Tapo C320WS Outdoor Security กล้อง Wi-Fi Camera (หรือที่หลาย ๆ คนเรียกว่ากล้อง IP) สำหรับติดตั้งภายนอก ที่มาพร้อมมาตรฐานกันน้ำ IP66 และมาพร้อมความคมชัดระดับ 2K QHD ผ่านความละเอียด 4 ล้านพิกเซล ทั้งยังให้ภาพสีคมชัดแม้ในที่มืดด้วย นอกจากความคมชัดที่เพิ่มขึ้นแล้ว ตัวกล้องยังมาพร้อมเซ็นเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหว ที่แม่นยำและใช้งานง่ายยิ่งขึ้นด้วย ใครกำลังมองหากล้อง Wi-Fi Camera ประสิทธิภาพสูง พร้อมฟีเจอร์ช่วยจับพวก ‘ย่องเบา’ ลองมาดูกันเลย
คุณสมบัติ TP-Link Tapo C320WS
- 2K QHD-บันทึกทุกภาพด้วยความคมชัดระดับ 4MP crystal-clear
- Wired or Wireless Networking-เชื่อมต่อกล้องของคุณเข้ากับเครือข่ายผ่านอีเทอร์เน็ตหรือ WiFi เพื่อการติดตั้งที่ยืดหยุ่นยิ่งขึ้น
- Full-Color Night Vision-วิดีโอที่มีสีสันแม้ในเวลากลางคืน
- Starlight Night Vision-เซ็นเซอร์แบบ high-sensitive ที่มีความไวสูงจับภาพคุณภาพสูงกว่าแม้ในสภาพแสงน้อย
- Motion Detection and Notifications-แจ้งเตือนคุณเมื่อกล้องตรวจจับการเคลื่อนไหว
- Sound and Light Alarm-เอฟเฟกต์แสงและเสียงเพื่อเตือนและไล่ผู้บุกรุกที่ไม่ต้องการ
- Two-Way Audio-เปิดใช้ฟังก์ชั่นการสื่อสารผ่านไมโครโฟนและลำโพงที่ built-in ในตัว
- Safe Storage-จัดเก็บวิดีโอ 2K QHD บนการ์ด microSD สูงสุด 256 GB ให้คุณเข้าถึงฟุตเทจวิดีโอได้อย่างสะดวก
- Voice Control-ไม่ต้องใช้มือด้วยการควบคุมแทนด้วยเสียง: ทำงานร่วมกับ Google Assistant และ Amazon Alexa (Google Assistant และ Amazon Alexa มีให้บริการในบางภาษาและบางประเทศเท่านั้น)
ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.tp-link.com/th/home-networking/cloud-camera/tapo-c320ws/
แกะกล่อง
หน้ากล่องมีบอกชัดเจนเลยว่า “Full-Time Color” หรือถ่ายภาพสีตอนกลางคืนได้ (ลองมาดูกัน) ส่วนอุปกรณ์ภายในกล่องก็ประกอบไปด้วย ตัวกล้อง Tapo C320WS , ชุดไฟเลี้ยง Power Adapter , แผ่นช่วยติดผนัง Mounting Template , ชุดติดตั้งกับผนัง Anchors and Screws , ซิลกันน้ำ Waterproof Seal , ที่กันน้ำสำหรับสายเชื่อมต่อ Waterproof Cable Attachments และชุดคู่มือกับใบรับประกัน Quick Start Guide
งานออกแบบ
หน้าตายังคงถอดแบบจากตัว Tapo C310 มาเลย โดยยังมาพร้อมเสาสัญญาณคู่แนบสองฝั่ง วงสีแดง และตัวเครื่องที่ใช้พลาสติกสีขาวเป็นหลัก หน้าตาโดยรวมถือว่าสวยงาม ดูล้ำกว่ากล้อง IP ทั่ว ๆ ไป
เนื่องจากเป็นกล้อง IP แบบ Outdoor ดังนั้นจึงเกิดคำถามว่า ‘หากเจอฝนตกจะเป็นอย่างไร’ ในส่วนนี้ตัว Tapo C320WS มีวิธีป้องกันไปแล้ว นั้นคือมาตรฐานกันน้ำ IP66 ที่สามารถกันน้ำระดับฉีดใส่ได้เลย แต่ทั้งนี้ก็ต้องติดตั้งตัวอุปกรณ์เสริม ที่ให้มาในกล่องให้ครบด้วยเช่นกัน อาทิ Anchors and Screws ตัวซิลกันน้ำ กับ Waterproof Seal ที่กันน้ำสำหรับสายเชื่อมต่อ
ตัวกล้องมีช่องใส่ MicroSD Card ที่มาพร้อมฝาปิดกันน้ำด้วย อาจจะลำบากนิด ๆ ตอนใส่หรือเปลี่ยนการ์ด แต่ก็แลกกับความปลอดภัยจากการถูกน้ำเข้ากล้องนั้นเอง
สายเชื่อมต่อกล้อง นอกจากจะเชื่อมต่อสายไฟเลี้ยงแบบ AC แล้ว ยังสามารถนำสาย LAN มาเชื่อมต่อเพื่อเพิ่มความเสถียรได้อีก และส่วนนี้เอง ก็สามารถนำ Waterproof Cable Attachments หรือข้อต่อกันน้ำสำหรับสายเชื่อมต่อมาต่อเสริมได้
ตัวเลนส์กล้องแบบใหม่ ที่รอบนี้อัดความละเอียดมาให้ถึง 4 ล้านพิกเซล ในระดับ QHD (2560 × 1440) พร้อมเซ็นเซอร์ชนาด 1/3″ กับเซ็นเซอร์ช่วยจับภาพในที่แสงน้อยได้ดีด้วย โดยมีระยะ Night Vision ที่ 850 nm กับระยะ IR LED มากถึง 30 m
การติดตั้งและใช้งาน (เบื้องต้น)
สำหรับตัวกล้อง TP-Link Tapo C320WS ต้องบอกเลยว่า ‘ลูกเล่นเพียบบบ’ คือไม่ได้เป็นเพียงกล้องที่เอาไว้เก็บภาพเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีลูกเล่นหรือฟีเจอร์ให้เล่นอีกมากมายทีเดียว โดยเฉพาะฟีเจอร์ ‘ตรวจจับการเคลื่อนไหว’ ที่รอบนี้ตั้งค่าได้ละเอียดขึ้น ใช้ง่ายขึ้น และแม่นยำขึ้น ซึ่งรีวิวนี้จะขอเน้นจุดนี้เป็นพิเศษ แต่ก่อนอื่นลองมาดูวิธีติดตั้งกันก่อนครับ
ขั้นตอนแรกก็ดาว์นโหลดและติดตั้งแอปฯ Tapo กันก่อน จากนั้นตัวแอปฯ จะให้เราเลือกอุปกรณ์ที่ต้องการเชื่อมต่อ ในที่นี้ก็กดเลือกตัว Tapo C320WS เสร็จแล้วก็ติดตั้งตามขั้นตอน เลือกชื่อ Wi-Fi ที่ใช้ต่อเน็ตภายในบ้าน จากนั้นก็รอให้เชื่อมต่อกัน เป็นอันเสร็จ ง่าย ๆ ไม่ต้องมีขั้นตอนอะไรให้ยุ่งยากมากมายเลย
หลังติดตั้งเสร็จแล้ว ก็จะมีหน้าแนะนำฟีเจอร์เด่นของตัว Tapo C320WS ทั้งการถ่ายภาพสีตอนกลางคืน โหมดสลับภาพขาวดำไปภาพสีอัตโนมัติ AI ช่วยตรวจจับการเคลื่อนไหว และการตั้งค่า ‘โซนกิจกรรม’ เพื่อควบคุมระยะตรวจจับการเคลื่อนไหวให้ตรงกับที่ต้องการมากขึ้น
เข้าสู่หน้าแรก (Home Screen) หากใครมีติดตั้งอุปกรณ์ Tapo ตัวอื่นด้วย ก็สามารถดูผ่านในแอปฯ Tapo ได้เช่นกัน ในที่นี้ก็ลองมาดูส่วนของตัวกล้อง Tapo C320WS
หน้าควบคุมตัวกล้อง Tapo C320WS ก็ไม่มีอะไรมาก หลัก ๆ จะมีภาพ Live จากกล้องให้เห็นกันแบบ Real Time ที่กดดูแบบแนวนอนได้ จุดนี้ก็จะมีปุ่มกดบันทึกภาพนิ่งกับภาพเคลื่อนไหว (บันทึกลง MicroSD ที่ใส่ในตัวกล้อง) นอกนั้นก็มีปุ่มเปิด/ปิดไมค์บันทึกเสียงของตัวกล้อง , ปุ่มพูดคุยผ่านกล้อง (สมมุติว่ามีคนมาหา ก็สามารถพูดคุยจากระยะไกลผ่านกล้องได้เลย) , ปุ่มเปิด/ปิดสัญญาณเตือน , Tapo Care (คืออะไร เดี๋ยวรอดู) , การดูภาพย้อนหลัง และสุดท้ายหน้าตั้งค่าการทำงานของฟีเจอร์ต่าง ๆ จากตัวกล้อง
โหมดความเป็นส่วนตัว หรือโหมดช่วยปิดการทำงานของตัวกล้องแบบชั่วคราว กรณีที่ไม่อยากบันทึกภาพชั่วขณะ สามาถกดเปิด/ปิดได้ง่าย ๆ จากตัวแอปฯ เลย ไม่จำเป็นต้องชักปลั๊กให้เสี่ยง
Tapo Care บริการเสริมของตัวกล้อง Tapo ซึ่งในรุ่น Tapo C320WS ก็รองรับการใช้บริการนี้ได้ จุดนี้ต้องบอกเลยว่า ใครที่อยากใช้งานกล้อง IP แบบจริงจัง ควรสมัครใช้บริการนี้เลย เพราะจะช่วยให้เก็บไฟล์ภาพจากกล้องผ่านระบบ Cloud ได้ เพิ่มความสามารถด้าน AI กับระบบตรวจจับให้แม่นยำขึ้น รองรับการเชื่อมต่อตัวกล้องได้มากขึ้น และอื่น ๆ อีกมากมาย ถ้าถามว่าไม่มี Tapo Care แล้ว ตัวกล้องจะยังใช้งานได้ไหม คำตอบคือ “ได้” ตัว AI กับระบบตรวจจับยังใช้งานได้อยู่ แม่ไม่มีตัว Tapo Care ก็ตาม ซึ่งประสิทธิภาพจะเป็นอย่างไร ลองมาดูหัวข้อถัดไปนี้เลย
ประสิทธิภาพ (ทดสอบฟีเจอร์เด่น)
การติดตั้งและใช้งานเบื้องต้นก็ได้เห็นกันไปแล้ว ต่อไปลองมาดูส่วนประสิทธิภาพของตัวกล้องแบบเน้น อยากการเก็บภาพระดับ 2K การถ่ายภาพกลางคืน และฟีเจอร์ตรวจจับของกล้อง จะมีความคมชัดและแม่นยำขนาดไหนกัน
ทดสอบความคมชัด อันดับแรกก็ปรับให้ตัวกล้องเก็บภาพในความละเอียดสูงสุดที่ 4 ล้านพิกเซล (2K)
บันทึกภาพเวลา 14.59 น. (โหมดปกติ)
ลองซูมภาพจากตัวแอปฯ
บันทึกภาพเวลา 22.35 น. (โหมดกลางคืนหรือ Night Vision)
บันทึกภาพนิ่งเวลา 22.36 น. (โหมดกลางวัน แต่เปิดใช้ตอนกลางคืน)
บันทึกภาพนิ่งเวลา 22.42 น. (โหมดฟูลคัลเลอร์ เปิดไฟจากตัวกล้อง)
จากตัวอย่างภาพนิ่งและวิดีโอที่บันทึก ก็จะเห็นได้ถึงความละเอียดระดับ 2K ชัด ๆ เลย ตัว Tapo C320WS สามารถเก็บภาพได้คมชัดแทบทุกสภาวะ และสำหรับตอนกลางคืน ส่วนนี้จะมีประเด็นนิดหน่อย เพราะเราสามารถเลือกเก็บภาพตอนกลางคืนได้ถึง 3 รูปแบบ อาทิ โหมดกลางวัน โหมดกลางวันกลางคืน (อินฟราเรด) และโหมดฟลูคัลเลอร์
โหมดฟลูคัลเลอร์คือการเปิดแสงไฟจากตัวกล้องนั้นเอง ทำให้สามารถเก็บภาพตอนกลางคืนได้คมชัดที่สุด แต่ก็แลกกับที่ตัวกล้อง จะมีไฟส่องสว่างออกมาเด่นทีเดียว ทว่าจุดนี้เอง ที่จะกลายเป็นส่วนสำคัญในการ “ปิดตายพวกย่องเบา” ปิดตายยังไง ก็แบบนี้เลย
ถามว่ามันทำงานยังไง ? คำตอบคือ “โหมดอัจฉริยะ” คือการเปิดโหมดฟลูคัลเลอร์ ที่จะมีไฟส่องแบบอัตโนมัติ ซึ่งตัวกล้อง สามารถตั้งค่าร่วมกับ ‘เซ็นเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหว’ ได้นั้นเอง
หน้าตั้งค่าโหมดอัจฉริยะ
สำหรับการตั้งค่าเซ็นเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหว ตัวกล้องก็สามารถปรับแต่งได้หลากหลายมาก ๆ ใครที่เน้นสะดวก ก็เปิดเฉพาะ ‘ตัวจับการเคลื่อนไหวด้วย AI’ อย่างเดียวก็ได้ แต่ส่วนตัวแล้ว ลองมาปรับแต่งแบบไม่ต้องพึ่งพา AI จะดีกว่า วิธีที่ใช้ในที่นี้เลยคือ ตั้งค่า ‘ตรวจจับการบุกรุกพื้น’ หรือกำหนด ‘โซนกิจกรรม’ นี้เอง ลองกำหนดโซนที่คิดว่าควรตรวจจับพิเศษ อย่างบริเวณทางเข้าบ้านก็พอแล้ว เท่านี้เวลามีใครแอบย่องเข้าบ้าน แล้วมาใกล้กับประตูบ้าน ตัวกล้องจะฉายไฟใส่ทันที หรือต่อให้นักย่องเบา แอบมาทำอะไรกับตัวกล้อง ก็ตั้งค่า ‘การโจรกรรมกล้อง’ ให้ตัวกล้อง มีความไวแต่การสัมผัสมากกว่าปกติก็ได้เช่นกัน
คำถามถัดมา หากตัวกล้องพบผู้บุกรุกแล้วยังไงต่อ ? ส่วนนี้ตัวกล้องจะมีการแจ้งเตือนมายังสมาร์ทโฟนที่เราเชื่อมต่อไว้นั้นเอง ซึ่งเราจะตั้งค่าให้ตัวกล้อง ‘ส่งเสียงแจ้งเตือน’ ดัง ๆ ออกจากตัวกล้องก็ได้
แต่ส่วนตัวกลัวเพื่อนบ้านจะบุกมาแทน (ฮ่า) ก็เลยปิดไว้ แล้วตั้งให้มันส่ง Notification อย่างเดียวแทน โดยหากดที่การแจ้งเตือน ตัวกล้องจะพาไปดูหน้าผู้บุกรุกทันที เราสามารถกดเปิดไมค์เพื่อทัก “มาทำอะไร” หรือขู่เพื่อขับไล่ก็ได้ หรือหากไม่ทันได้เห็น ก็สามารถดูภาพย้อนหลัง (จากคลิปที่พบการเคลื่อนไหว) เพื่อเก็บหลักฐานก็ได้
หากต้องการเก็บหลักฐาน ก็สามารถกด ‘บันทึกวิดีโอ’ เวลาจอผู้ต้องสงสัย แล้วกด ‘ดาวน์โหลด’ ไฟล์ดังกล่าวลงในเครื่องสมาร์ทโฟนของเราได้อย่างง่าย ๆ ทันที