กลับมาอีกครั้งกับเครื่อง Ps.. ผิด ๆ Linksys E7350 เราเตอร์ทรงเกมมิ่งอีกตัว ที่รอบนี้มีราคาเข้าถึงง่ายขึ้น แต่ยังทรงประสิทธิภาพ หลังก่อนหน้านี้เคยรีวิวตัวรุ่นพี่อย่าง Linksys E9450 ไปแล้ว คราวนี้มาดูตัวรุ่นน้องกันบ้าง สำหรับ Linksys E7350 ก็ยังเป็นเราเตอร์ Wi-Fi 6 เช่นเคย ซึ่งมาพร้อม Dual-Band ความเร็ว AX1800 ซึ่งถือเป็นความเร็วมาตรฐานของเราเตอร์สมัยใหม่ โดยยังสามารถเล่นอินเทอร์เน็ต ดูหนัง และเล่นเกมออนไลน์ได้ราบรื่น ราบรื่นแค่ไหน ความแรงประมาณไหน มาดูกันเลย
ฟีเจอร์เด่น Linksys E7350 Dual-Band AX1800 WiFi 6
- สัญญาณ Wi-Fi ครอบคลุมพื้นที่ 1,500 ตารางฟุต* รองรับการเชื่อมต่ออุปกรณ์ได้มากกว่า 25 เครื่องพร้อมกันด้วยความเร็วไร้สายสูงสุด 1.8Gbps
- เทคโนโลยี Wi-Fi 6 รองรับการเชื่อมต่อไร้สายได้มากขึ้น
- เพิ่มแบนด์วิดท์เป็น 2 เท่าเพื่อหลีกเลี่ยงการรบกวนสัญญาณด้วยเทคโนโลยี Dual-Band
- ติดตั้งง่ายผ่านเว็บบราวเซอร์โดยใช้สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์
- แยก Wi-Fi เฉพาะไว้ให้บุคคลอื่นใช้งานอินเทอร์เน็ต แต่ไม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์ หรือไฟล์ที่คุณแชร์ไว้
แกะกล่อง
อุปกรณ์ในกล่องยังคงสไตล์ Linksys ที่มาพร้อมหัวปลั๊กหลากหลายแบบ ก็กล่องสีฟ้าดูพรี่เมี่ยม ส่วนอุปกรณ์ในกล่องก็มีตัวเราเตอร์ E7350 , หัวแปลงไฟกับหัวปลั๊กอีก 3 แบบ , สาย LAN x 1 และชุดคู่มือกับใบรับประกัน
งานออกแบบ
ดีไซน์ตัว Linksys E7350 คือใช้ร่างเดิมจากตัวรุ่นพี่อย่าง Linksys E9450 มาเลย ทว่ารอบนี้มาเป็นสีดำ ดูดุดันมากขึ้น ให้อารมณ์เหมือนเราเตอร์เกมมิ่งยิ่งกว่าเดิม ตัวเราเตอร์เป็นทรงแนวตั้ง ซึ่งส่วนตัวคิดว่าเราเตอร์แบบนี้ วางตรงไหนก็สวย ใช้พื้นที่ในการวางไม่มากด้วย
ลองวางแนวนอน ก็ได้อยู่นะ
ฐานวางหรือขาตั้งตัวเราเตอร์ มีสีฟ้าตัดกับสีดำมาเลย ซึ่งส่วนนี้เองก็มีการบอกรหัส Wi-Fi เริ่มต้น ซึ่งสามารถใช้งานหลังติดตั้งได้ทันที
ด้านบนมีช่องระบายความร้อน ซึ่งภายในก็มีเสาสัญญาณ Internal Antennas ให้ 2 เสา แต่เคลมเรื่องกระจายสัญญาณได้ไกลหรือครอบคลุมถึง 1,500 ตารางฟุต (เดี๋ยวมาดูกัน) และกระจายสัญญาณแบบ Dual Band แบ่งเป็น 2.4 GHz ที่ความเร็ว 600 Mbps กับ 5 GHz ความเร็ว 1200 Mbps
พอร์ตเชื่อมต่อด้านหลัง มีทั้ง WAN x 1 กับ LAN x 4 เป็น Gigabit ทั้งหมด และมีพอร์ต USB-A 3.0 มาให้ด้วย จุดสังเกตอีกอย่างคือ มีปุ่ม WPS ที่ช่วยให้เชื่อมต่อ Wi-Fi กับอุปกรณ์เครื่องอื่นได้ง่าย และปุ่ม Reset ที่สามารถกดได้เลย โดยไม่ต้องหาเข็มมาจิ้ม (ชอบมากกกก)
การติดตั้งและใช้งาน
ข้อดีอย่างแรกของตัว Linksys E7350 คือ ติดตั้งง่ายมาก อย่างที่กล่าวไปก่อนหน้า ตัวเราเตอร์สามารถใช้งานหลังเสียบปลั๊กไฟกับสาย LAN ได้ทันที โดยการเอารหัสที่ซ่อนอยู่ใต้ฐานมาใช้งานได้เลย ซึ่งตัวรหัส Wi-Fi ตั้งต้น ก็มีความปลอดภัยและคาดเดาได้ยากทีเดียว ..ทว่าไม่ใช่กับรหัสตั้งค่าตัวเราเตอร์
รหัสตั้งค่าตัวเราเตอร์คาดเดาง่ายมาก ๆ ๆ ฉะนั้นใครอยากใช้งานเราเตอร์แบบปลอดภัยจริง ๆ ก็ต้องมาตั้งค่ารหัสตัวเราเตอร์ใหม่ และส่วนนี้อาจได้มาตั้งค่ารหัสเข้า Wi-Fi ทั้งคลื่น 2.4 GHz และ 5 GHz ด้วยเหมือนกันตามนี้
การตั้งค่าตัวเราเตอร์ Linksys E7350 ต้องทำผ่านเว็บเบราเซอร์เท่านั้น ฉะนั้นส่วนนี้อาจมีความยากอยู่บ้าง ต่างจากการตั้งค่าผ่านแอปฯ เหมือนในเราเตอร์หลาย ๆ รุ่น
หน้าตั้งค่ารหัส Wi-Fi
หน้า Home หรือหน้าหลักของการตั้งค่า ที่ใช้ดูสถานะการทำงานของพอร์ต LAN ได้ทันที หรือดูสถานะของ Wi-Fi ที่ใช้งานอยู่ก็ได้เช่นกัน
หน้าตั้งค่า EasyMesh อีกหนึ่งฟีเจอร์เด็ดของตัว Linksys E7350 ที่สามารถนำ Linksys E7350 อีกตัว มาทำเป็น Mesh Wi-Fi ช่วยขยายสัญญาณได้อย่างง่าย ๆ
หน้าตั้งค่า Parental Control หรือการตั้งกฏควบคุมการใช้งานเน็ตจากตัวเราเตอร์ ในหน้านี้ก็สามารถใส่ชื่อเว็บที่ต้องการบล็อก กับจำกัดเวลาใช้งาน และเลือกอุปกรณ์ที่ต้องการให้มีการคุมกฏโดยเฉพาะ เช่น สมาร์ทโฟน/โน้ตบุ๊ก ของลูกหรือลูกบ้านเป็นต้น
เปิด/ปิด ส่วน Beamforming ได้
ตั้งค่าส่วน USB 3.0 ซึ่งหากนำอุปกรณ์เก็บข้อมูลมาเชื่อมต่อกับพอร์ต USB ของตัวเราเตอร์ ก็สามารถทำเป้น Cloud เก็บข้อมูลส่วนตัวขนาดย่อมได้ง่าย ๆ เลย
ตัวอย่างการใช้งานพอร์ต USB 3.0 ของตัว Linksys E7350
หน้าตั้งค่าไฟร์วอลล์หรือส่วนความปลอดภัย ตัว Linksys E7350 ก็ไม่ทำให้ผิดหวัง ในหน้าตั้งค่าไฟร์วอลล์นี้จะเห็นเลยว่า มีส่วนให้กำหนดค่าหลากหลายมาก อย่างส่วนช่วยกรองการร้องขออินเทอร์เน็ตที่ไม่ระบุชื่อเป็นต้น
ประสิทธิภาพ
ในส่วนการทดสอบประสิทธิภาพของตัว Linksys E7350 ครั้งนี้ จะเน้นที่ความเร็ว Wi-Fi เป็นหลัก ลองดูว่าเราเตอร์ความเร็ว AX1800 นี้ จะสามารถขับความเร็วระดับ 1 Gbps (1000/300 Mbps) ที่ใช้บริการอยู่ได้ขนาดไหน แน่นอนว่าลองกับอุปกรณ์ที่รองรับ Wi-Fi 6 ด้วยเช่นกัน และอีกการทดสอบหรือ ระยะการสัญญาณ Wi-Fi มาดูกันว่าตัว Linksys E7350 จะทำได้กับที่เคลมไว้ได้แค่ไหนกัน
เริ่มจากการเชื่อมต่อในระยะใกล้กับตัวเราเตอร์ผ่านคลื่น 5 GHz ผลคือได้ความเร็วโหลด 797 Mbps กับความเร็วอัปโหลด 364 Mbps
ต่อไปลองคลื่น 2.4 GHz จากระยะใกล้เช่นกัน ผลคือได้ความเร็ว 117 Mbps กับความเร็วอัปโหลด 140 Mbps
ทดสอบระยะใกล้ไปแล้ว คราวนี้ขอเป็นระยะไกลบ้าง โดยอยู่ห่างจากเราเตอร์ออกมาอีกฝั่งของบ้านเลย
ตำแหน่งโดยประมาณ ตอนนี้ยืนอยู่บริเวณห้องนั่งเล่น (สีแดง) ในขณะที่ตัวเราเตอร์อยู่ห้องทำงาน
ทดสอบด้วยคลื่น 5 Ghz ก็มีความเร็วโหลดเหลือ 288 Mbps กับความเร็วอัปโหลดเหลือ 123 Mbps
ส่วนคลื่น 2.4 Ghz ความเร็วโหลดเหลือ 77.7 Mbps กับความเร็วอัปโหลดเหลือ 67 Mbps
ลองทดสอบขั้นสุดท้าย คราวนี้ขึ้นชั้นสองจากตำแหน่งเดิมเลย ลองดูว่าตัว Linksys E7350 จะส่งสัญญาณมาถึงไหม
ผลคือคลื่น 5 GHz หายเป็นที่เรียบร้อย เหลือคลื่น 2.4 GHz ที่มีจุดเด่นเรื่องการกระจายสัญญาณระยะไกลอยู่ ทว่าความเร็วก็ตกไปเยอะมาก ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจ โดยเหลือความเร็วโหลดเพียง 11.3 Mbps พอใช้เล่น Facebook หรือ Line ได้อยู่