นับว่าเป็นสเปกในฝันโดยแท้ Intel Core i9 กับ RTX 3060 ที่แม้การ์ดจอจะยังไม่สุดมาก แต่หากต้องจัดสเปกนี้จริง ๆ ก็เตรียมกำงบไว้เกือบแสนบาทเลย (โดยเฉพาะช่วงนี้..) ทว่าเรามีทางสว่างแล้ว เมื่อ ASUS ได้เปิดตัวโน้ตบุ๊กเกมมิ่ง TUF ตัวใหม่ ที่มาพร้อมสเปกระดับนี้ แต่มีราคาไม่เกิน 5 หมื่นบาท
เมื่อโน้ตบุ๊กเกมมิ่งราคา Budget แต่ประสิทธิภาพท้าชน Hi-End หลักแสน แต่ไหนแต่ไร ASUS TUF ก็นับเป็นซีรีส์โน้ตบุ๊กเกมมิ่งที่เหล่าเกมเมอร์ให้การยอมรับว่าเป็น โน้ตบุ๊กเกมมิ่งที่คุ้มค่าที่สุด สเปกแรงสวนทางกับราคาที่ไม่ว่าใครก็เข้าถึงได้ ซึ่งแต่เดิมก็จะมีราคาอยู่ประมาณ 3 หมื่นบาท หรือไม่เกิน 3 หมื่นบาทก็มีมาแล้ว
ทว่ารอบนี้เราจะได้เห็น ASUS TUF ในราคาเกือบ 5 หมื่นบาท ดูเหมือนแพงขึ้นมาก แต่หากลองมาดูที่สเปก Intel Core i9 + RTX 3060 + 16GB DDR4 เชื่อว่าหลายคนต้องร้อง “ห่ะ” ไม่มากก็น้อยแน่ ใช่แล้วครับ นี่คือโน้ตบุ๊กเกมมิ่งสเปกหลักแสน แต่ดันมีราคาแค่ครึ่งแสนนั้นเอง
สำหรับรีวิวรอบนี้จะพิเศษหน่อย เนื่องจากเรามีทั้ง ASUS TUF Gaming F15 (2021) รุ่น Top สุดที่เป็น Core i9 + RTX 3060 กับมีรุ่นเริ่มต้นที่มาพร้อม Core i5 + RTX 3050 ด้วย วัดกันไปเลยว่า จะไปให้สุด หรือแค่เริ่มต้นก็เพียงพอสำหรับเราแล้ว
สเปก ASUS TUF Gaming F15 (2021) รุ่น Core i9 / Core i5
CPU : Intel Core i9-11900H / Intel Core i5-11400H
Memory : 16GB DDR4-3200 SO-DIMM / 8GB DDR4-2933 SO-DIMM
Graphics : Nvidia GeForce RTX 3060Ti 6GB GDDR6 / RTX 3050 4GB GDDR6
Storage : 1TB M.2 NVMe / 512GB M.2 NVMe
Display : 15.6″ IPS FHD 240Hz / 144Hz
Battery : 90WHrs / 48WHrs
OS : Microsoft Windows 10 Home
Weight : 2.3 Kg
ลองเทียบสเปก ASUS รุ่น Core i9 กับ Core i5 ดูแล้ว จะเห็นเลยว่าตัว Core i9 จะสุดหมดทั้งชิปประมวล หน่วยความจำ หน้าจอ และแบตฯ ในราคาที่ห่างกันราว 2 หมื่นบาท ลองชั่งใจดูเลยว่า เราอยากไปสุดแคไหน หรือดูสเปกและราคารุ่นอื่น ๆ ของ ASUS TUF ได้ที่ asus.com/th
แกะกล่อง
อย่างที่กล่าว รอบนี้เรามี ASUS TUF F15 อยู่ด้วยกัน 2 ตัว แบ่งเป็นรุ่น Top สุด Core i9 และรุ่นเริ่มต้น Core i5 แต่กล่องก็ยังเหมือนกันทั้งคู่
ภายในก็มีตัวเครื่อง ASUS TUF F15 กับชุดชาร์จไฟ ชุดคู่มือ และชุดสติ๊กเกอร์สำหรับเอาไปประดับตัวเครื่อง
ชุดสติ๊กเกอร์ กับ ชุดชาร์จไฟ
ดีไซน์
หน้าตาก็ยังคงความเป็น ASUS TUF เช่นเคย ซึ่งตามสไตล์ชื่อ TUF ก็คือเน้นความเป็น Military ดูเหมือนเป็นอุปกรณ์ทางการทหารที่มีความทนทานสูง ซึ่ง ASUS TUF F15 นี้ไม่ใช่แค่เหมือน แต่ก็มีคงทนจริง ๆ โดยตัวเครื่องได้ผ่านการทดสอบความทนทานระดับมาตรฐานทางการทหารอย่าง MIL-STD-810H มาแล้วนั้นเอง แต่ใช้ว่าจะเอาไปโยนเล่น หรือเอาไปกันกระสุนได้นะเออ
ไม่รู้ว่าเรียกเป็นจุดด้อยได้ไหม แม้ ASUS TUF F15 รุ่นนี้ จะมีความบางกว่ารุ่นก่อน ๆ แต่ก็ต้องยอมรับว่า ASUS TUF ซีรีส์ ก็ยังไม่ใช่โน้ตบุ๊กเกมมิ่งที่เน้นพกพา ตัวเครื่องไม่บาง และ ไม่เบามาก เหมาะสำหรับตั้งเป็น Station Gaming ที่บ้านมากกว่า
พอร์ตการเชื่อมต่อที่มีก็ประกอบไปด้วย USB 3.2 Gen 1 Type-A x 3 , Thunderbolt 4 (รองรับ DisplayPort) , พอร์ต LAN RJ45 , HDMI 2.0b และ Combo Audio Jack 3.5mm x 1 ถือว่าให้มาแบบพอดี ไม่มากไม่น้อย
เมื่อพลิกดูใต้เครื่อง ก็จะเห็นช่องดูดลมเข้าอยู่ 5 – 6 จุด ไม่ได้เป็นเจาะรูเป็นแผงทั้งหมด ส่วนนี้คิดว่าหากทำให้มีช่องดูดลมเกือบทุกรูเลย น่าจะช่วยให้ระบายความร้อนได้ดีกว่านี้แน่
คีย์บอร์ดแบบ Full Size ปุ่มกดแบบ ‘ชิคเคล็ต’ พร้อมไฟ RGB ซึ่งไม่ได้มีเอฟเฟคคลื่นสวย ๆ เหมือนโน้ตบุ๊กเกมมิ่งระดับ Hi-End ในตัว TUF จะเน้นสลับสีไปมามากกว่า แต่ก็ดีกว่าแบบเดิม ที่มีมาให้สีเหลืองสีเดียวเท่านั้น
ตัวเครื่อง ASUS TUF F15 รอบนี้มาพร้อมหน้าจอขนาด 15.6 นิ้ว ความละเอียด FHD เหมือนเคย (และมีรุ่น FHD จอ 17 นิ้วให้เลือก) เพิ่มเติมคือ Refresh Rate ระดับ 144 Hz ในรุ่น Core i5 และ 240 Hz ในรุ่น Core i9 ส่วนคุณภาพจอก็สวยคมกำลังดี ตามสเปกคือมีค่า sRGB ที่ 100% กันเลย กับรองรับเทคโนโลยี G-SYNC ด้วย
ประสิทธิภาพ (เทียบ Core i5 และ Core i9)
ในหัวข้อนี้ต้องบอกก่อนว่า นี่ไม่ใช่ Intel Core i9 vs Core i5 หรือ RTX 3060 vs RTX 3050 แต่อย่างใด แต่เป็นการโชว์ให้ดูว่า ทั้งสองรุ่น มีความห่างชั้นกันขนาดไหน กับราคาที่เราต้องจ่ายเพิ่มอีกเกือบ 2 หมื่นบาท ซึ่งหลังจากนี้ก็น่าจะช่วยให้หลายคนเลือกได้ง่าย ๆ ว่า ความแรงระดับนี้เรารับได้หรือไม่ได้ ไม่ก็อาจไปจบที่รุ่น Core i7 กลาง ๆ ไปเลยก็ได้ครับ
รายละเอียกสเปก Intel Core i9 กับ Core i5 ของ ASUS TUF
ผลเทสจากโปรแกรม Cinebench R15 ตัว Core i9 ได้ 196.72 fps กับ 2009 cb ส่วน Core i5 ได้ 93.97 fps กับ 1028 cb
ส่วน Cinebench R23 วัดประสิทธิภาพ Muti Core ของซีพียู ตัว Core i9 ได้ 11522 pts ส่วน Core i5 ได้ 5648 pts
เทสประสิทธิภาพการใช้งานโดยรวมด้วย PC Mark 10 ตัว Core i9 ได้ 6725 คะแนน ส่วน Core i5 ได้ 5911 คะแนน
ลองวัดคุณภาพกราฟฟิกร่วมกับการ์จอด้วย 3D Mark Fire Strike Utra ตัว Core i9 + RTX 3060 ได้ 5014 คะแนน ส่วน Core i5 + RTX 3050 ได้ 3141 คะแนน
วัดอายุการใช้งานแบตฯ ตัว ASUS TUF รุ่น Core i9 ใช้ได้ประมาณ 7 ชั่วโมง ส่วน ASUS TUF รุ่น Core i5 ใช้ได้ประมาณ 8 ชั่วโมง ห่างกันประมาณ 1 ชั่วโมง
วัดความเร็วอ่านเขียนของ SSD ขนาด 1TB ในรุ่น Core i9 และขนาด 512GB ในรุ่น Core i5 ซึ่งก็ได้ความเร็วต่างกันตามนี้เลย
- SSD รุ่น 1TB จาก Core i9 ได้ความเร็วไป 3471 MB/s สำหรับอ่าน และ 3029 MB/s สำหรับเขียน
- SSD รุ่น 512GB จาก Core i5 ได้ความเร็วไป 3098 MB/s สำหรับอ่าน และ 1633 MB/s สำหรับเขียน
สุดท้ายลองวัดประสิทธิภาพการระบายความร้อน จุดนี้แอบพลาดตรงที่ไม่ได้วัดด้วยโปรแกรมเดียวกัน แต่ก็ใช้วิธีการคล้าย ๆ กันคือ ถ้าใช้งานแบบเต็มประสิทธิภาพ อุณหภูมิโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่เท่าไร ผลคือ ASUS TUF รุ่น Core i9 อุณหภูมิโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 88 องศา ขณะเล่นเกม AAA แบบปรับสุด (เปิดรอบพัดลมสูงสุด) ส่วน Core i5 อุณหภูมิโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 60 องศา ขณะวัดด้วยโปรแกรม FurMark
เกมมิ่ง (เทียบ RTX 3050 และ RTX 3060)
ในส่วนเกมมิ่ง อาจเรียกได้ว่าเป็นการประชันระหว่างการ์ดจอ RTX 3060 กับ RTX 3050 ก็ว่าได้ ซึ่งในรีวิวนี้ได้ทดสอบกับเกม Call of Duty: Modern Warfare (2019) ทั้งโหมด Warzone และ Multiplayer อีกเกมคือ Cyberpunk 2077 แน่นอนว่าปรับสุด Max ทั้งสองเกม
อนึ่ง ก่อนไปทดสอบเล่นเกม ก็ได้ไปเปิดโหมด Turbo ในโปรแกรม Armoury Crate ของตัวเครื่อง เพื่อรีดประสิทธิภาพให้สุดด้วย ผลเป็นไงลองดูกันเลย
ผลเทสจาก ASUS TUF F15 รุ่น Core i9 + RTX 3060
Cyberpunk 2077 ได้ 58 – 64 fps
Call of Duty: Modern Warfare โหมด Warzone ได้ 69 – 72 fps
ส่วน Call of Duty: Modern Warfare โหมด Multiplayer ได้ลื่น ๆ (หัวแตก) ตามนี้
ผลเทสจาก ASUS TUF F15 รุ่น Core i5 + RTX 3050
Cyberpunk 2077 ได้ 30 – 35 fps
Call of Duty: Modern Warfare (2019) โหมด Warzone ได้ 43 – 47 fps
ส่วน Call of Duty: Modern Warfare (2019) โหมด Multiplayer ได้ลื่น ๆ ตามนี้
สรุป
ASUS TUF ก็ยังเป็น ASUS TUF สมกับที่เป็นโน้ตบุ๊กเกมมิ่งที่คุ้มค่าที่สุดเช่นเคย ด้านขุมพลังของซีพียู Intel Core i9 และการ์ดจอ RTX 3060 ต้องยอมรับเลยว่า ทรงพลังจริง ๆ เอาอยู่ทั้ง Cyberpunk 2077 และ COD: Modern Warfare ทั้ง 2 โหมด ปรับสุดได้สบาย ๆ เลย
ส่วน TUF รุ่นระดับเริ่มต้นที่ใช้ Intel Core i5 กับการ์ดจอ RTX 3050 ก็ยังพอเล่นเกม AAA แบบปรับสุดได้ไหวอยู่ ซึ่งถ้าลดสเปกกราฟฟิกลงมาหน่อย รองรับเล่นได้ลื่น ๆ แน่นอน แต่ถ้าเราชอบกราฟฟิกสวย ๆ ชอบ FPS สูง ๆ นิ่ง ๆ เปิด Ray Tracing แบบไม่ต้องกลัวกระตุก ASUS TUF F15 รุ่น Core i9 คือคำตอบ ถ้างบจำกัดก็เอา ASUS TUF F15 รุ่น i5 จากนั้นค่อยไปอัปแรมเป็น 16GB ก็ได้เช่นกัน
ส่วนตัวเครื่อง ASUS TUF F15 รุ่น 2021 นี้ ในการทดสอบประสิทธิภาพของรุ่น Core i9 ก็เห็นแล้วว่า แม้จะมาอยู่ในร่าง TUF ประสิทธิภาพก็ยังแรงไม่เสื่อมคาย ซึ่งก็ต้องขอบคุณระบบระบายความร้อนที่ดีของตัวเครื่อง กับ Armoury Crate โปรแกรมช่วยปรับแต่งประสิทธิภาพของ ASUS และหน้าจอที่รองรับ 144Hz ถึง 240Hz ที่ช่วยเพิ่มความลื่นไหลได้มาก
หากใครไม่ติดใจเรื่องความหนา และดีไซน์ที่ไม่ได้สวยเฉียบอะไรนัก ASUS TUF F15 รุ่นประจำปี 2021 สามารถให้ประสบการณ์เกมมิ่งได้ดีอย่างแน่นอน ท้ายนี้ตัวเครื่องก็มีราคาเริ่มต้นที่ 30,990 บาท สำหรับรุ่น Core i5 ส่วนรุ่น Top สุด หรือ Core i9 ในที่นี้เอง ก็มีราคาอยู่ที่ 49,990 บาทเท่านั้น ทั้งสองรุ่นก็มาพร้อม Windows 10 Home ของแท้พร้อมใช้งาน และการรับประกัน Global Warranty 2 ปี กับประกันอุบัติเหตุ Perfect Warranty 1 ปีแรกด้วยครับ
ช่องทางจำหน่ายออนไลน์
ASUS TUF F15 (Core i9/RTX3060)
ASUS TUF F15 (Core i5/RTX3050)