มาพบกับ ‘สมาร์ทโฟนตลาดแตก’ อีกรุ่น ที่เปิดราคาเริ่มต้นไม่เกินหมื่นบาท แต่ได้สเปกและฟีเจอร์ดีงามไม่แพ้รุ่น Top กันเลย รีวิวนี้มาพบกับ POCO F3 สุดคุ้มในงบหมื่นบาท จอสวย เสียงคุณภาพ เกมมิ่งแจ่ม ดีไซน์ระดับเรือธง
สังเกตได้ว่าสมาร์ทโฟนระดับ Top สมัยนี้ หลายรุ่นมีความสุดเฉพาะด้านจริง ๆ ไม่ว่าจะเป็น สุดเรื่องกล้อง สุดเรื่องเกม หรือสุดเรื่อง Creator Content แน่นอนว่าราคาก็ไปสุดเช่นกัน จนหลาย ๆ คนเอื้อมถึงยาก ไม่ก็มองว่า เกินจำเป็น จึงเกิดเป็นอีกความต้องการคือ “ขอสมาร์ทโฟนที่มีสเปกและราคาสมเหตสมผล” ไม่ต้องสุดมาก แต่ก็ไม่แย่มากเช่นกัน
รีวิวนี้มาพบกับ POCO F3 สมาร์ทโฟนจากแบรนด์ POCO ที่เคยสร้างความฮือฮาด้วยการเปิดตัวสมาร์ทโฟนที่มาพร้อมชิป Snapdragon ตัว Top สุด แต่มีราคาเพียงหมื่นต้น ๆ (ปัจจุบันแยกตัวออกจาก Xiaomi อย่างเป็นทางการแล้ว) ครั้งนี้ก็ได้มาสานต่อตำนานอีกครั้ง กลับมาพัฒนาสมาร์ทโฟนที่เน้นตอบสนองความต้องการโดยเฉพาะ ในราคาหมื่นต้น ๆ โดยรอบนี้ดีงามทั้งสเปกและดีไซน์ ฟีเจอร์และเทคโนโลยีเพียบ ผิดจากเมื่อก่อนที่เด่นแค่สเปกเท่านั้น
รายละเอียดสเปก POCO F3
หน้าจอ : AMOLED ขนาด 6.67 นิ้ว ความละเอียด FHD+ (2400 x 1800) รองรับ Refresh Rate ที่ 120 Hz และ Touch Sampling Rate ที่ 360Hz ค่าความสว่างหรือ Brightness ที่ 900 nits กับมี HDR10+ มี True Color และเทคโนโลยี MEMC (Motion Estimation and Motion Compensation) ช่วยให้แสดงผลได้ลื่นไหลขึ้น ครอบทับด้วยกระจก Corning Gorilla Glass 5 ทั้งด้านหน้าและด้านหลังเครื่อง
หน่วยประมวลผล : Qualcomm Snapdragon 870 5G
ชิปกราฟฟิก : Qualcomm Adreno 650
แรม : 6GB/8GB
รอม : 128GB/256GB แบบ UFS 3.1
กล้องหลัง : [48 MP + 8 MP + 5MP] แบ่งเป็นเลนส์หลัก 48 ล้านพิกเซล F/1.79 ขนาดพิกเซล 1.6μm + เลนส์ Ultra-Wide 8 ล้านพิกเซล F/2.2 และ เลนส์ Telemacro 5 ล้านพิกเซล F/2.4
กล้องหน้า : 20 ล้านพิกเซล
การเชื่อมต่อ : USB-C (ไม่มีพอร์ต 3.5 มม. และช่องใส่ SD Card)
เน็ตเวิร์ค : WiFi 6 + Bluetooth 5.1
แบตฯ : Li-Ion 4,520 mAh รองรับ Fast Charge 33W
ลำโพง : Dolby Atmos
ขนาดตัวเครื่อง : 163.7 มม. x 76.4 มม. x 7.8 มม.
น้ำหนัก : 196 กรัม
ระบบปฏิบัติการ : Android 11 ครอบทับด้วย MIUI 12 For POCO
แรกสัมผัส
มาดใหม่โดยแท้ คือต้องเล่าก่อนว่า ตอนที่ Poco เปิดตัวรุ่น F1 สมาร์ทโฟนรุ่นแรกที่มาพร้อม Snapdragon 845 ในราคาถูกที่สุดในโลก (ปี 2018) โดยอยู่แค่ 10,990 บาทเท่านั้น แต่ต้องแลกกับงานวัสดุและดีไซน์ที่ไม่ได้แจ่มเหมือนสเปก กระทั่งมีเปิดตัวรุ่น Poco F2 Pro (Pro เลย ไม่มี F2) ก็มีวัสดุและดีไซน์ที่ดีขึ้นแล้ว แต่ราคากลับโดดไปหลัก 2 หมื่นบาท ผิดกับคอนเซ็ปท์รุ่นแรก
ดังนั้น POCO F3 จึงเป็นเหมือนการสานต่อของรุ่น F1 โดยกลับมามีราคาหมื่นต้น ๆ อีกครั้ง และใช้ชิประดับ Hi-End ซึ่งแม้จะไม่ได้ใช้ Snapdragon 888 ที่เป็นตัว Top สุด ใช้เป็น Snapdragon 870 แทน แต่ก็เป็นชิปที่อยู่กึ่งกลางระหว่าง Snapdragon 888 กับ Snapdragon 865 รุ่น Top ของปีก่อน จึงนับว่าเป็นการกลับมาของสมาร์ทโฟนสเปกเทพ ในราคามวลมนุษย์ได้อยู่ครับ
งานดีไซน์
POCO F3 มาพร้อมขอบอลูมิเนียมทนทาน ครอบทับด้วยกรอบพลาสติก ด้านดีไซน์ก็สวยหรูผิดกับราคาไม่น้อย แม้จะไม่ได้สวยเกินหน้าเรือธงรุ่น 3 – 5 หมื่นบาท แต่ก็จัดว่าดูดีในหมู่สมาร์ทโฟนระดับ 1 – 2 หมื่นบาทมาก ๆ แล้ว ทำให้ลบคำสบประมาทสมัย F1 ได้เป็นอย่างดี กลายเป็นดีงามทั้งดีไซน์ ทั้งสเปก และราคาในที่สุด
ส่วนตัวเครื่องที่รีวิวก็มาพร้อมสีดำ Night Black ซึ่งยามเจอแสงส่อง ก็จะกลายสภาพเป็นสีอื่นได้อย่างน่าฉงน ฮ่า ฮ่า คือมันเป็นผิวมันเงาแบบ Glossy ทั้งตัว สะท้อนมันทุกอย่าง ยังดีที่มีกระจก Gorilla Glass 5 เคลือบอยู่ เลยหายห่วงเรื่องความทนทานกับเป็นรอยขีดข่วนง่าย แต่ไม่พ้นรอยนิ้วมือนะ….
ความบางของตัวเครื่องอยู่ที่ 7.8 มม. กับน้ำหนัก 196 กรัม นับว่าเป็นสมาร์ทโฟนขนาดย่อมรุ่นหนึ่ง ที่ไม่เล็กหรือใหญ่เกินไป สามารถถือจับได้ง่าย ส่วนตัวโมดูลกล้อง ก็มียื่นออกมาตามภาพ
จุดที่ต้องชมเลยคือการออกแบบโมดูลกล้องหลัง ที่ไม่ดูเป็นสมาร์ทโฟนราคาถูกทั่วไป ออกแบบได้ดีทีเดียว ประกอบไปด้วยกล้อง 3 ตัว
จุดสำคัญอีกอย่างคือ หน้าจอไม่ได้เป็นขอบโค้ง เชื่อว่าหากมีก็น่าจะทำให้ตัว POCO F3 ดูสวยหรูขึ้นมาก แต่สำหรับผม ส่วนตัวชอบเจอสมาร์ทโฟนแบบนี้มากกว่า เพราะขอบโค้งมักทำให้อุ้งมือเผลอไปโดนจอจน Touch เพื้ยนเสมอ พอเป็นขอบแบบนี้ ก็ช่วยทำให้เล่นเกมแบบไม่ต้องเป็นใส่เคสได้ดีเลย
ส่วนใช้งาน
พูดถึงดีไซน์ไปแล้ว ต่อไปมาว่าในส่วนประสบการณ์ใช้งานกันบ้าง ซึ่งเรื่องกล้อง ประสิทธิภาพ และเกมมิ่ง จะมีพูดในหัวข้อถัด ๆ ไปนะครับ
หน้าจอตัวเครื่องเป็น AMOLED ขนาดจอ 6.67 นิ้ว ถือว่าใหญ่กำลังดี จุดเด่นคือรองรับ Refresh Rate ที่ 120 Hz กับ Touch Sampling Rate ที่ 360Hz สองจุดนี้เองที่ทำให้ใช้งานตัวเครื่องได้ลื่นไหลมาก ๆ และเป็นประโยชน์ต่อการเล่นเกมอยู่พอควรเลย นอกจากนี้ยังมี MEMC ที่ช่วยทำให้การดูวิดีโอลื่นไหลขึ้น ด้านการแสดงผล POCO F3 ก็ทำออกมาได้สวยงามคมชัดไม่แพ้สมาร์ทโฟนรุ่น Top เลย และยังสู้แสงได้โอเคมาก แต่ก็ต้องแลกกับการปรับแสงขั้นสุดเช่นกัน และตัวกระจก Gorilla Glass 5 ถ้าใช้เป็นรุ่น Victus เลยจะโหดมาก
การสแกนลายนิ้วมือ ก็สามารถทำได้ตรงปุ่ม Power ของตัวเครื่องเลย จุดนี้ขอกราบงาม ๆ จากใจ ส่วนตัวผมชอบสแกนที่ปุ่ม Power มากกว่าตรงหลังเครื่องหรือใต้หน้าจอ เพราะมันสะดวกกว่า (กับติดนิสัยตอนสมัยใช้ Xperia)
และการสแกนก็ทำได้อย่างรวดเร็ว
สำหรับตัวลำโพงก็มีด้วยกัน 3 จุด และมี Dolby Atmos เป็นลำโพงคู่ ส่วนนี้อยากให้สังเกตการวางตำแหน่งดี ๆ จะเห็นเลยว่า มีการวางโดยคิดถึงเรื่องการจับใช้งานในแนวนอนมาแล้ว คือสมาร์ทโฟนหลาย ๆ รุ่น มักจะวางช่องลำโพงไว้ตำแหน่งเดียวกับนิ้วมือ จนเกิดปัญหา ‘เสียงอุด’ แต่ตัว POCO F3 สามาถหลีกเลี่ยงปัญหานี้ได้ แต่ก็แอบมีเผลอเอานิ้วไปอุดบ้างเหมือนกัน ส่วนเรื่องพลังเสียง เดี๋ยวรอดูในส่วนหัวข้อเกมมิ่งเลยครับ
อนึ่งหลายคนคงสังเกตได้แล้วว่า ตัวเครื่องไม่มีช่องเสียบหูฟัง 3.5 มม. คำตอบคือ ถูกต้องครับบบ และยังไม่มีช่องใส่ Micro SD ด้วยนะเออ (ถาดใส่เป็น Dual-SIM ล้วน ๆ)
จากรอบก่อนในรุ่น F2 Pro ตัวกล้องหน้าเป็น Pop-Up ซ่อนในตัวเครื่อง ครั้งนี้มาเป็น Punch-Hole บนขอบจอแทน (ประหยัดงบกันไป) ที่มาพร้อมขนาด 20 ล้านพิกเซล แต่ก็เป็นรูขนาดเล็ก ไม่ใหญ่มาก เพียง 2.76 มม. เท่านั้น
ซอฟต์แวร์และประสิทธิภาพ
แม้จะแยกตัวจาก Xiaomi แล้ว แต่ตัว POCO F3 ก็ยังคงใช้ MIUI 12 ซึ่งครอบทับ Android 11 อยู่เช่นเคย เพียงแต่เป็น MIUI 12 เวอร์ชั่นสำหรับ POCO โดยเฉพาะ ดังนั้นการใช้งานบางส่วนจะมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง แต่ก็ยังให้อารมณ์การใช้งานคล้ายกันอยู่ครับ ส่วนใครยังไม่รู้จักรอม MIUI ก็มาดูหน้าตาของมันกันได้ตามนี้
หน้าตา Home Screen ของ MIUI For POCO
มีสองแอปฯ ช่วยเคลียร์เนื้อที่เครื่องกับเร่งความเร็วในคลิกเดียว
ลองมาดูในส่วนตั้งค่ากันบ้าง
เริ่มจากการตั้งค่าหน้าจอก่อนเลย ในส่วนนี้จะเห็นเลยว่าตัวเครื่อง สามารถตั้งค่าการแสดงผลช่วงสีได้ทั้ง P3 และ sRGB กับมีส่วนตั้งค่า Refresh Rate ตั้งค่า 60Hz กับ 120Hz และมีส่วนตั้งค่าความสว่างใน โหมดแสงแดด กับ โหมดกลางคืน เพิ่มเติม หากไม่ใช่ปรับความสว่างอัตโนมัติ (ส่วนตัวผมจะปิดเอาไว้ เพราะบางครั้งมันชอบลดความสว่างลงโดยไม่จำเป็น)
ตัวฟีเจอร์ MEMC สามารถเปิดปิดเองได้ และมีส่วน AI ช่วยปรับปรุงการแสดงผล HDR ก็สามารถเลือกเปิดปิดได้เช่นกัน ใครที่อยากประหยัดแบตฯ ก็มาปิดการใช้งานกันได้
โดยรวมแล้วตัวรอม MUMI นับว่ามีหน้าตาที่สวยงามและใช้งานได้ง่ายดี มีส่วนตังค่าปรับความสะดวกในการใช้งานมากมาย พร้อมมีภาพประกอบอธิบายชัดเจน แต่มีส่วนที่เป็น ‘ลิ้นชักแอปฯ’ แค่ส่วนนี้เท่านั้นที่รู้สึกว่า มันน่าจะปรับอะไรได้มากกว่านี้
เกมมิ่ง
มาถึงส่วนที่เกมมิ่งแล้ว ซึ่งจะเป็นการเทสประสิทธิภาพของตัว POCO F3 กับ Snapdragon 870 ในคราวเดียว ซึ่งมีการอัพเกรด Qualcomm Kryo 585 CPU ให้มีความเร็วถึง 2 GHz กับมีระบบระบายความร้อนด้วยของเหลว LiquidCool Technology 1.0 Plus แบบที่เคยใช้ในรุ่น F1 แต่มีการปรับปรุงใหม่ ลองมาดูกันว่าตัวเครื่องจะเล่นได้ลื่นและระบายความร้อนได้ดีไหม อ่อ มีเทสลำโพง Dolby Atmos ด้วยนะ
ประเดิมด้วย Genshin Impact เกมเกลือ เอ้ย เกมกินสเปกแห่งปี ปรับภาพสุดทุกอย่าง ผลคือ สามารถเล่นได้อย่างลื่น ๆ เลย ที่สำคัญคือ ‘ไม่ร้อน’ โดยหลังผ่านไป 1 ชั่วโมงครึ่ง ถึงจะเริ่มร้อน จุดนี้ถ้าปรับภาพให้มาอยู่กลาง ๆ น้อย ก็สามารถเล่นต่อเนื่องได้สบาย ๆ
ต่อไปก็ PUBG Mobile ปรับสุดเช่นกัน ผลคือเล่นได้ลื่น ๆ อย่างไม่มีปัญหา และได้ต่อเนื่องนาน ๆ โดยแทบไม่ร้อนเลย
ปิดท้ายด้วย Super Mecha Champions อีกเกมแนว Battle Royale เหมือน PUBG (แต่มีขี่หุ่นยนต์สู้กัน !!) และเป็นอีกเกมที่กินสเปกพอควรเหมือนกัน ในครั้งนี้ลองเทสในโหมดทีม ซึ่งจะมีสารพัดเอฟเฟคและสารพัดหุ่นยนต์ ทรมาณเครื่องแบบสุด ๆ ผลคือ มีกระตุกบ้าง แรกเล่นได้ลื่น ๆ แต่หลังมีการปะทะ เครื่องเริ่มกระตุกและเริ่มร้อนแล้ว แต่เล่นในโหมดเดี่ยว ก็สามารถเล่นได้ลื่น ๆ ไม่มีปัญหา
หลังดูเรื่องเกมมิ่งไปแล้ว ต่อไปก็ต้องดูเรื่องแบตฯ สำหรับตัว POCO F3 ก็มาพร้อมแบตฯ Li-Ion ขนาด 4,520 mAh โดยในระบบเคลมว่าใช้งานได้ 2 วัน จากที่ลองใช้งานแล้ว ก็ใช้งานได้ 2 วันจริง ๆ แต่ถ้าเล่นเกมแบบต่อเนื่อง อย่างมากก็วันเดียวแน่นอน ทั้งนี้ตัวเครื่องก็มีโหมดประหยัดพลังงานที่เข้าใจง่าย คือหากมีจุดไหนที่กินแบตฯ เป็นพิเศษ ตัวเครื่องจะมีแจ้งเตือนในนี้ให้เห็นทันที โดยเฉพาะตัว Refresh Rate ที่หากปรับเป็น 60Hz แล้ว จะเพิ่มอายุแบตฯ ได้ถึงหนึ่งชั่วโมงกันเลย และข่าวดีคือในกล่องมาพร้อมหัวชาร์จ 33W มาให้ สามารถชาร์จเต็ม 100% ได้ในเวลาเพียง 52 นาที
กล้อง
สำหรับตัวกล้องของ POCO F3 ก็มีพระเอกอย่าง กล้องหลัง 3 ตัว โดยมีเลนส์หลัก 48 ล้านพิกเซล (MP) F/1.79 พร้อมขนาดพิกเซล 1.6μm ถือได้ว่าเป็นกล้องที่มีความละเอียดแบบกำลังดี (สมัยนี้ไป 64MP หรือ 108MP ซะเยอะ) กับมีเลนส์ Ultra-Wide 8 ล้านพิกเซล F/2.2 และ เลนส์ Telemacro 5 ล้านพิกเซล F/2.4
หน้า UI ควบคุมกล้องของ POCO F3
โหมด ‘ช่วยถ่าย’ ที่ช่วยให้ถ่ายภาพแบบโปรในคลิกเดียวก็มา โดยหลาย ๆ โหมด จะมี AI ช่วยให้ถ่ายภาพยาก ๆ ได้ง่ายในทันที เช่น ถ่าย Long Exposure หรือ Time Stop
Long Exposure
ลองถ่ายภาพในที่มืดด้วยเลนส์หลัก 48 ล้านพิกเซล
เลนส์ Ultra-Wide 8 ล้านพิกเซล F/2.2
รวมภาพถ่ายจากล้องหลัง POCO F3
สรุป
“ทุกสิ่งที่คุณต้องการ ไม่มีอะไรที่คุณไม่ต้องการ” สโลแกนของแบรนด์ POCO ซึ่งเน้นตอบสนองความต้องการของแฟน ๆ หรือผู้ใช้โดยเฉพาะ กล่าวได้ว่า POCO F3 เป็นสมาร์ทโฟนแนวไลฟ์สไตล์ ซึ่งมีฟีเจอร์ ‘เท่าที่จำเป็น’ มาให้ใช้งานอย่างครบครันแล้ว จริง ๆ POCO F3 นับว่าเป็นเรือธงตัวหนึ่งยังได้ (หากไม่มีรุ่น F3 Pro อ่ะนะ) โดยเป็นซีรีส์ F ที่ถือเป็นซีรีส์ของแบรนด์นี้เอง
ภาพรวมของ POCO F3 คือ ‘ความคุ้มค่า’ โดยแท้ เหมาะสำหรับใครที่ต้องการสมาร์ทโฟนมาใช้งานทั่วไป ในราคาไม่แพง ตัว POCO F3 นับเป็นตัวเลือกที่ล่อตาล่อใจมาก มีดีทั้งดีไซน์ ทั้งสเปก และกล้อง รวมไปถึงราคาด้วย โดยเฉพาะตัวชิป Snapdragon 870 ก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเป็นซีพียูระดับ Hi-End และไม่ร้อน !!
สำหรับข้อสังเกต อย่างแรกคือ ไม่มีช่องเสียบหูฟัง 3.5 mm กับช่องใส่ Micro SD และสุดท้ายตัวเครื่องไม่กันน้ำ ส่วนกล้องก็ทำได้ดี แต่ยังไม่สุดที่ควร อาจต้องพูดเลยว่า POCO F3 เป็นสมาร์ทโฟนที่สุดในตัวของมันแล้ว ดังนั้นฟีเจอร์หลาย ๆ อย่างแม้จะใช้งานได้ดี แต่แน่นอนว่ายังไม่อาจเทียบเท่ากับเหล่าเรือธงในหลาย ๆ รุ่นได้ ซึ่งก็ไม่แปลก เพราะหากใครต้องการความสุดมากกว่านั้น ก็ต้องกำงบให้มากขึ้นนั้นเองครับ
ราคาและวันจำหน่าย
POCO F3 มาพร้อม 3 สีให้เลือก อาทิ Night Black สีดำ (ที่รีวิว) Arctic White สีขาว และ Deep Ocean Blue สีฟ้า ส่วนแรมกับรอมก็มีดังนี้
- POCO F3 รุ่น [6GB/128GB] ราคา 10,999 บาท
- POCO F3 รุ่น [8GB/256GB] ราคา 12,999 บาท
เริ่มวางจำหน่ายในช่องทางออนไลน์แล้ววันนี้