จากสถานการณ์ช่วงนี้เอง ‘สุขภาพดี’ คงเป็นสุดยอดสมบัติของใครหลาย ๆ คนไปเลย ซึ่งการจะมีสุขภาพดีได้นั้น ก็ย่อมไม่พ้นการดูแลตัวเอง ทั้งการควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย และการพักผ่อนเพียงพอ แต่ด้วยปัจจัยหลาย ๆ อย่าง บางคนจึงทำได้ไม่ครบ หรือไม่ได้ทำเลย (เช่นผมเป็นต้น…) ยังดีที่ในยุคนี้เรามีตัวช่วยกระตุ้นชั้นดีอย่าง Fitness Tracker สายรัดข้อมือเพื่อ หรือ Smart Watch นาฬิกาออกกำลังกาย ซึ่งในรีวิวนี้จะมาพูดถึง Garmin Venu นาฬิกาออกกำลังกายตัวใหม่นี้กัน
Garmin Venu เป็นนาฬิกาออกกำลังกายรุ่นอัพเกรดใหม่ ซึ่งมาพร้อมดีไซน์หรูหราแบบสวยเท่ กับหน้าจอ AMOLED ความคมชัดสูง ด้านฟีเจอร์ยังคงจัดเต็มตามสไตล์แบรนด์ Garmin โดยมีสารพัดเซ็นเซอร์ อาทิ Pulse Ox วัดความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด, วัดพลังงาน, วัดการเต้นของหัวใจ, ติดตามการหายใจ, ติดตามการนอน, ติดตามรอบประจำเดือน, ติดตามความเครียด, ติดตามการดื่มน้ำ และฟีเจอร์ช่วยออกกำลังกายอีกเพียบ ซึ่งด้วยคุณสมบัติระดับนี้ แต่กลับมีราคาจับต้องง่ายเกินคาด โดยตัว Garmin Venu จะดีงามขนาดไหนนั้น ลองมาดูกันครับ
รายละเอียดสเปก Garmin Venu
วัสดุเลนส์ | Corning® Gorilla® Glass 3 |
วัสดุกรอบจอแสดงผล | สแตนเลส |
วัสดุตัวเรือน | โพลีเมอร์ที่เสริมด้วยไฟเบอร์พร้อมฝาครอบโพลีเมอร์ด้านหลัง |
ความสามารถใช้ร่วมกับสาย Quick Release | ใช่ (20 มม.) |
วัสดุสาย | ซิลิโคน |
ขนาดเครื่อง | 43.2 x 43.2 x 12.4 มม. |
หน้าจอสัมผัส | |
ขนาดหน้าจอ | เส้นผ่าศูนย์กลาง 1.2” (30.4 มม.) |
ความละเอียดหน้าจอ | 390 x 390 พิกเซล |
ประเภทหน้าจอ | AMOLED มีตัวเลือกเสริมโหมดหน้าจอสว่างตลอด |
น้ำหนัก | 46.3 กรัม |
ระยะเวลาการใช้งานแบตเตอรี่ | โหมดสมาร์ทวอทช์: นานถึง 5 วัน |
โหมด GPS และเพลง: นานถึง 6 ชั่วโมง | |
โหมด GPS แบบไม่เล่นเพลง: นานถึง 18 ชั่วโมง | |
ระดับการกันน้ำ | สำหรับว่ายน้ำ, 5 ATM |
หน้าจอสี | |
หน่วยความจำ/ประวัติ | การออกกำลังกายแบบจับเวลา 7 กิจกรรม และติดตามข้อมูลกิจกรรมได้นาน 14 วัน |
วัสดุและดีไซน์
ตัว Garmin Venu ที่ได้มารีวิวนี้คือรุ่น Black/Gold หรือสีดำขอบทอง ส่วนตัวค่อนข้างถูกใจสีนี้พอควร แต่ก็มีคนชอบสีอื่นมากกว่าอย่าง Black with Slate, Granite Blue with Silver และ Light Sand with Rose Gold ก็แล้วแต่ความชอบกันไป กลับมาที่ Garmin Venu กันต่อ ตัวเรือนใช้วัสดุเป็นโพลีเมอร์ + ไฟเบอร์ ทำให้มีน้ำหนักเบา (46.3 กรัม) แต่กลับดูคล้ายอลูมิเนียม คือมันมีความเงางาม และมีความแข็งแรงในระดับหนึ่งเลย (พิสูจน์โดยการเผลอเอาขอบไปชนเสา แต่ตัวเรือนกลับไม่เป็นอะไรเลย)
ส่วนสายเป็นซิลิโคนอย่างดี ใส่แล้วแทบไม่รู้สึกอัดอึด โดยเฉพาะเวลาเหงื่อออก ทั้งนี้ตัวสายยังเป็น Quick Release ขนาด 20 มม. ต่างจากตัว Garmin Vivoactive 4 อีกรุ่นที่มีสเปกเหมือนกันเป๊ะ ยกเว้นหน้าจอกับตัวสายซึ่งเป็น Quick Release ขนาด 22 มม. แทน
เปรียบเทียบ Garmin Venu กับ Garmin Vivoactive 4 จะเห็นเลยว่าตัวสายของ Venu มีขนาดเล็กกว่า ผอมเพรียวกว่า
ด้านดีไซน์ก็เหมือนจะทำออกมาให้ดูคล้ายกับนาฬิกาจริง ๆ โดยมาเป็นทรงคลาสสิก พร้อมหน้าจอ AMOLED ขนาด 390 x 390 พิกเซล มีความคมชัดสูงมาก (สำหรับ Smart Watch) ขนาดที่ว่าใครเลือกหน้าจอแสดงผลแบบนาฬิกาอนาล็อก ดูไกล ๆ คือแทบไม่รู้เลยว่าเป็นจอแสดงผล ทั้งนี้ตัวเรือนของ Garmin Venu มีความเพรียวบางระดับหนึ่ง สามารถใส่ได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง
แต่ถ้าเทียบตัวเรือนกับ Garmin Vivoactive 4 แล้ว จะเห็นเลยว่าตัว Vivoactive 4 มีดีไซน์ดู Sport กว่า โดยส่วนตัวคิดว่าเหมาะสำหรับผู้ชายมากกว่า
ตัวอย่าง Garmin Venu ขณะใส่ในข้อมือผู้ชาย (ซ้าย) กับข้อมือผู้หญิง (ขวา)
ในส่วนของเซ็นเซอร์ Garmin Venu อย่างที่เกริ่นไปตอนแรก ซึ่งเมื่อลองดูจากตัวเซ็นเซอร์จริง ๆ จะเห็นเลยว่ามี 4 ขีด แต่หากดูจากสเปก ก็มีระบุสารพัดเซ็นเซอร์ภายในมากมาย โดยประกอบไปด้วย GLONASS, Galileo, Garmin Elevate (วัดอัตราการเต้นหัวใจ) วัดความสูงด้วยความดันอากาศ, เข็มทิศอิเล็กทรอนิกส์, Gyroscope, มาตรวัดความเร่ง, Pulse Ox และ GPS
การใช้งาน
ตัวช่วยกระตุ้นชั้นดี ตามที่กล่าวไปก่อนหน้า แม้ผมจะบอกว่า Garmin Venu มีราคาจับต้องง่าย แต่หากซื้อมาใส่ดูนาฬิกาอย่างเดียว ยังไงก็ไม่คุ้มค่าตัวแน่นอน ดังนั้นใครที่ซื้อมาใส่ ก็ต้องมีแผนแล้วว่า จะซื้อมาเพื่อ ‘กระตุ้น’ การดูแลตัวเองโดยเฉพาะ เอาให้คุ้มกับราคาของมัน การใช้งานก็แน่นอนว่า สวมใส่กับข้อมือ จากนั้นก็โหลดแอปฯ Garmin Connect เพื่อเริ่มการใช้งานที่แท้จริง
นอกจากหน้าจอแสดงนาฬิกาแล้ว Garmin Connect หากปัดขึ้นก็จะมีหน้าดูสถานะหลัก ๆ อย่าง วัดการเต้นของหัวใจ, นับจำนวนก้าว, นับขั้นก้าวเดินขึ้นบันได, และการเบิร์นแคลอรี่ ตามสไตล์ Smart Watch นาฬิกาออกกำลังกาย
และด้วยความที่เป็น Smart Watch ก็จะมีฟีเจอร์สำหรับใช้ร่วมกับสมาร์ทโฟน โดยตัว Garmin Venu หากกดปุ่มล่างค้าง ก็จะมีหน้าไอคอนปรากฏเป็นวงกลมตามภาพ สามารถจิ้มแต่ละไอคอนเพื่อเข้าดูได้เลย
หากมีการเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟน (ผ่านแอปฯ Garmin Connect) ตัว Garmin Venu สามารถแสดง Notification แทนสมาร์ทโฟนได้ด้วย โดยหากมีข้อความ SMS, Line หรือ Twitter เข้าสมาร์ทโฟนเรา หน้าจอของ Garmin Venu ก็สามารถแสดงให้เห็นโดยย่อทันที
ประสิทธิภาพ
เพื่อให้ใช้งาน Garmin Venu ได้เต็มประสิทธิภาพ ใครมีสมาร์ทโฟนไปโหลดแอปฯ Garmin Connect มาติดตั้ง และเชื่อมต่อให้เรียบร้อย จากนั้นก็จะเข้าสู่หน้า Dashboard วัดสถานะของร่างกายผู้ส่วมใส่ ซึ่งในหน้าหลักของแอปฯ ก็จะแสดงค่าต่าง ๆ โดยสรุปให้ดูเข้าใจง่าย โดยเอาวัดการเต้นของหัวใจ, นับจำนวนก้าว, นับขั้นก้าวเดินขึ้นบันได, และการเบิร์นแคลอรี่ มาขยายให้ดูละเอียดขึ้นนั้นเอง
ฟีเจอร์การวัดต่าง ๆ ก็มีมากมาย อย่างที่กล่าวไปคือมี Pulse Ox วัดความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด, วัดพลังงาน, วัดการเต้นของหัวใจ, ติดตามการหายใจ, ติดตามการนอน, ติดตามความเครียด ส่วนตัวติดตามรอบประจำเดือนกับติดตามการดื่มน้ำ จะเป็นการกรอกข้อมูลลงไปโดยตรง เพื่อให้ตัว Garmin Venu หรือแอปฯ ช่วยคำนวนและให้คำแนะนำกับเราแทน
สำหรับฟีเจอร์ด้านการออกกำลังกาย หากเข้าเมนูนี้ ตัว Garmin Venu จะมีคำแนะนำพร้อมภาพ Animation สามมิติ แสดงตัวอย่างการออกท่าให้เห็นกันชัด ๆ ไปเลย ส่วนในแอปฯ Garmin Connect ก็จะมีวิดีโอให้ดูอย่างพร้อมคำแนะนำ (เป็นภาษา ENG) อย่างละเอียด
เพื่อช่วยกระตุ้นการออกกำลังกายมากยิ่งขึ้น ในแอปฯ ก็จะมี Challenge ท้าทายผู้ใช้ โดยมีการมอบ Achievement หรือถ้วยรางวัล (แบบดิจิตอล) ให้กับเรา หากเรามีการเคลื่อนไหวหรือการดูแลตัวเองตามที่แอปฯ กำหนด ก็จะมีถ้วยรางวัลสวย ๆ มาโชว์ในบัญชีของเรา สามารถนำไปอวดในโลกโซเชียลได้อย่างภาคภูมิ
มีคำร่ำลือมาว่า GPS ใน Garmin คือ The Best อย่างในตัว Garmin Venu ก็มีเซ็นเซอร์หรือชิป GPS ติดมาเลย ไม่ต้องเพิ่ง GPS ในสมาร์ทโฟนเหมือน Smart Watch บางรุ่น ทำให้ตัวมันเอง สามารถระบุพิกัดของผู้ใช้ได้โดยตรง
เพื่อเป็นการพิสูจน์ จึงลองเดินระยะยาวกว่า 4 กิโลเมตร โดยเปิด GPS ของตัว Garmin Venu พร้อมวัดเซ็นเซอร์นับก้าว, วัดการเต้นของหัวใจ และการนับระยะทาง ไปด้วยกันเลย ผลคือตัว GPS สามารถเก็บเส้นทางการเดินได้แม่นยำมาก โดยระหว่างที่เดินนั้น ลองเลี้ยวและเดินอ้อมไปมา พยายามไม่เดินเป็นเส้นตรง เพื่อให้ตัว GPS ทำงานจริง ๆ ผลที่ได้ก็ตามภาพเลย
นอกนั้นการวัดอื่น ๆ ก็ถูกสรุปมาให้เห็นอย่างละเอียด สามารถวัดได้กระทั้ง ความเร็วในการเดินกับอัตราการเต้นของหัวใจโดยเฉลี่ย ช่วยให้รู้สึกเลยว่า การเดินครั้งนี้เราได้อะไรมากกว่าที่คิด
อีกหนึ่งฟีเจอร์ ที่เรียกได้ว่าเป็น ‘นวัตกรรม’ อย่าง เซ็นเซอร์ติดตามความเครียด หรือ All-day Stress ลองให้เพื่อนใส่ตัว Garmin Vivoactive 4 ที่มีใส้ในเหมือน Garmin Venu ทุกประการ (ยกเว้นหน้าจอแสดงผล) ซึ่งมีเซ็นเซอร์ติดตามความเครียดเช่นกัน ระะหว่างกำลังลุยงานอย่างเคร่งเครียด ตัว Garmin ก็แจ้งเตือนทันทีว่า คุณกำลังเครียด
ลองไปหาข้อมูลดูว่ามันวัดยังไง ก็พบเบื้องหลังคือ ตัว Garmin จะคอยตรวจจับ ‘ความแปรปรวนของอัตราการเต้นหัวใจ’ ของผู้สวมใส่ สืบเนื่องจากกล้ามเนื้อหัวใจ จะทำงานอัตโนมัติตามสภาพความเครียดของระบบประสาท ซึ่งทาง Garmin จะตีค่าส่วนนี้ว่าเป็น Heart Rate Variability หรือ HRV หน่วยวัดความแปรปรวนของอัตราการเต้นหัวใจ เช่น ระบบประสาททำงานหนัก จะทำให้ค่า HRV สูง หรือมี ‘ค่าความตึงเครียด’ สูงนั้นเอง
ท้ายนี้ขอปิดด้วยส่วนสำคัญของ Smart Watch ทุกรุ่นเลยคือ อายุการใช้งานแบตฯ ในตัว สำหรับ Garmin Venu ตามที่เคลมไว้ สามารถใช้งานได้เต็มที่ 5 วัน ต่อการชาร์จ 1 ครั้ง หลังลองใช้งานแล้ว ก็สามารถอยู่ได้นาน 5 วันจริง ๆ (ส่วน Garmin Vivoactive 4 อยู่ได้ 8 วัน) ซึ่งหากไม่เปิด GPS ก็ใช้งานได้ยาว ๆ เลย ส่วนการเสียบชาร์จ ก็ใช้สายที่แถมมา ต่อเข้ากับตัว Garmin Venu ได้ตรง ๆ โดยให้อารมณ์เหมือนเสียบสาย Lightning หรือ Type-C ไม่ต้องพลิกด้านให้เสียเวลา
สรุป
ใครที่กำลังมองหา Smart Watch สายออกกำลังกายสวย ๆ แต่ขอทรงหรูหรา ไม่ต้อง Sport มาก Garmin Venu น่าจะตอบโจทย์ได้ดี จุดเด่นหลักของรุ่น Venu นี้เลยคือ ดีไซน์หรูหรา สวยเท่ ใส่ได้ทั้งชายหญิง และมาพร้อมจอ AMOLED สวยคมชัด
ด้านฟีเจอร์กับเซ็นเซอร์ ก็ทำได้ครบครัน เทียบได้กับ Smart Watch ระดับ Hi-End หรือตัว Top ของ Garmin กันเลย ในขณะที่ราคาไม่ได้แรงตาม ซึ่งตัว Garmin Venu ก็สนนค่าตัวที่ 14,500 บาท เหมาะสำหรับใครที่อยากหาตัวช่วยกระตุ้นชั้นดี ที่ได้ทั้งดีไซน์ ความสามารถ และความคุ้มค่า